‘เฟด’ ขึ้นแน่! ‘บาท’ กลับทิศ ‘หยวน’ อ่อน

23 ก.ย. 2560 | 01:09 น.
“เฟด” เพิ่มความเข้มข้นตามคาด! ส่งซิกขึ้นดอกเบี้ย 1 ครั้งในปีนี้ อีก 3 ครั้งปีหน้า เริ่มลดงบดุลในเดือน ต.ค. หนุนดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่า กูรูแนะเทียบเงินบาทกับเยน-หยวนและยูโร พบเริ่มกลับมาอ่อนค่าเอื้อส่งออก อย่าตกใจเงินไหลท่วมตลาดตราสารหนี้ 1 แสนล้าน แค่ครึ่งเดือน ก.ย.

นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณพ้นจุดก้นกระทะ ส่วน “เงินบาท” ที่แข็งค่าในปีนี้ ส่วนใหญ่มาจาก “เงินดอลลาร์” ที่อ่อนค่าลงเป็นสำคัญ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจของไทยที่ดีขึ้น ขณะนี้ “เงินบาท” เป็นจุดที่กลับหัวแล้ว เริ่มอ่อนตัวเมื่อเทียบกับ “ค่าเงินเยน ค่าเงินหยวน และเงินยูโร” สนับสนุนการส่งออกให้ขยายตัวต่อไปได้

น.ส.อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเปิดเผยว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมส่งสัญญาณปรับขึ้น 1 ครั้งในปีนี้ และ 3 ครั้งในปีหน้า รวมถึงการลดขนาดงบดุลในเดือน ต.ค. นี้ เป็นสิ่งที่ตลาดคาดการณ์ไว้แล้ว ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลต่าง ๆ รวมถึงค่าเงินบาท และคงไม่ผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย เพราะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยกเว้นว่า ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาออกมาดีมาก ถึงจะมีเงินไหลกลับเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ อีกครั้ง


TP-2-3299-5


“ปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทยดีขึ้น ทำให้เงินไหลเข้าตลาดตราสารหนี้มากอย่างมีนัยสำคัญในเดือน ส.ค. (1-18) ถึง 100,000 ล้านบาท จากในช่วง 8 เดือนแรก เข้ามาประมาณ 100,000 ล้านบาท แต่เงินที่เข้ามาไม่ใช่ต้องการเข้ามาเก็งกำไรจากตลาดตราสารหนี้ไทย เพราะพิจารณาจากอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรไทยและสหรัฐอเมริกาใกล้เคียงกัน แต่ได้กำไรอัตราแลกเปลี่ยนถึง 8% และปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติมียอดถือครองพันธบัตรประมาณ 8.6 แสนล้านบาท และเกือบ 80% ถือพันธบัตรที่มีอายุมากกว่า 1 ปี” น.ส.อาริยา กล่าว

นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ จับตาผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ หากพุ่งเกิน 2.5% อาจเริ่มกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกปรับฐาน แนะนำให้โยกเงินลงหุ้นญี่ปุ่น ยุโรป เลี่ยงสินค้าโภคภัณฑ์

ด้าน นายสันติ กีระนันทน์ ผู้แทนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ประจำเดือน ก.ย. ในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 124.13 ถือว่า อยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง เพิ่มขึ้นถึง 19.34% จากเดือนที่ผ่านมา ที่ 104.01 โดยมาจากกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศและกลุ่มสถาบันภายในประเทศ จากระดับทรงตัวมาอยู่ที่ระดับร้อนแรง เพราะภาวะเศรษฐกิจฟื้นการเคลื่อนย้ายเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ

ขณะที่ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซี แอล เอส เอ (ประเทศไทย) ฯ หรือ CLSA เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้พาผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) จำนวน 12 บริษัท ไปร่วมงาน CLSA Investor Forums ที่ฮ่องกง ว่า นักลงทุนต่างประเทศมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อประเทศไทย และเชื่อว่า เศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ยังคงมีหลายคำถาม และอยากจะเห็นการปฏิรูปอย่างจริงจัง ดังนั้น จึงยังไม่ตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นแบบกระทิง และตลาดหุ้นของไทยก็ไม่มีหุ้นนวัตกรรม ที่กำลังได้รับความนิยมในตลาดหุ้นหลายแห่ง

นายชูชาติ เพ็ชรอำไพ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมืองไทยลิสซิ่งฯ (MTLS) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปนำเสนอข้อมูลต่อกองทุนต่างชาติกับดอยซ์แบงก์ ทิสโก้ ที่รัฐนิวยอร์กและซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา พบ 15 กองทุน ซึ่งส่วนใหญ่รู้ว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้ไม่ดี และอธิบายเพิ่มเติมว่า สาเหตุที่เศรษฐกิจไม่ดี ส่วนหนึ่งมาจากราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ แต่มีข่าวดีการประมูลข้าวในโกดังแล้วและข้าวฤดูกาลใหม่กำลังเข้ามา ประกอบกับครึ่งปีหลัง การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนดีขึ้นจากเทศกาลต่าง ๆ

นอกจากนี้ ได้ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจปี 2561 จะสดใส จากปัจจัยการเลือกตั้งและงบลงทุนภาครัฐ 2.2 ล้านล้านบาท เริ่มจากรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง 3.6 แสนล้านบาท กระตุ้นให้เกิดการลงทุน การจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชน

ทั้งนี้ นายชูชาติ อธิบายธุรกิจของ MTLS ให้กองทุนต่างชาติ ว่า ปีนี้เติบโต 50% ตามเป้าหมาย ซึ่งครึ่งปีแรกโต 65% ครึ่งปีหลังไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนปี 2561 ให้เป้าการเติบโตของรายได้ 40% จากปี 2560 เปิดสาขาเพิ่มอีก 600 สาขา รวมกับ ณ ปัจจุบันที่มี 2,200 สาขา เป็น 2,800 สาขา หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิิดรายได้ ไม่เกิน 1.5% ของสินทรัพย์ มุ่งทำธุรกิจ 5 ประเภท คือ การปล่อยสินเชื่อที่ดิน, สินเชื่อรถจักรยานยนต์, สินเชื่อยานยนต์, สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อนาโน

“การไปโรดโชว์ให้กองทุนสหรัฐฯ ครั้งนี้ มีมุมมองเป็นบวก และพอใจที่ MTLS มีประสบการณ์ธุรกิจ 25 ปี โฟกัสธุรกิจที่ทำ 5 อย่างชัดเจนว่า เราไม่ออกไปนอกประเทศ รวมทั้งชอบความยั่งยืนขององค์กร จากดอกเบี้ยและค่าบริการถูกที่สุดของไทย ลูกค้าประทับใจการให้บริการ ถือว่า ประสบความสำเร็จในการทำโรดโชว์” นายชูชาติ กล่าว

ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทยฯ มองข้ามไปปี 2561 ปรับเพิ่มเป้าหมายดัชนีหุ้นกลางปี จากระดับ 1,650 จุด เพิ่มเป็น 1,700 จุด สิ้นปีอยู่ที่ 1,760 จุด โดยประมาณอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 3.5-3.7% และค่าเงินบาทอยู่ที่ 33.5 / 34.5 / 35.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24-27 ก.ย. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว