รัฐอุ้ม ‘อี-คอมเมิร์ซไทย’ สู้ยักษ์จีน

24 ก.ย. 2560 | 10:50 น.
เอ็ตด้า มองปรากฏการณ์ “อาลีบาบา-เจดีดอทคอม”บุกไทยเป็นผลดีเอสเอ็มอีขายสินค้าสู่ตลาดโลก พร้อมบรรจุแผนอุ้มผู้ประกอบการไทย ทั้ง “เทพช็อป- ตลาดดอตคอม” ไว้ในแผนอี-คอม เมิร์ซชาติ ด้าน ธปท.ยัน แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิส กลุ่มอาลีบาบา ไม่ได้ประสงค์เข้ามาขอใบอนุญาตทำอี-มันนี่ในไทย

 

พัฒนาการด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะดิจิตอลไฟแนนเชียล เข้ามาให้บริการตั้งแต่ระบบฐานข้อมูลไปจนถึงบริการชำระเงิน การโอนเงิน รวมถึงการบริหารความมั่งคั่ง และธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เหล่านี้ยิ่งนับวันยิ่งเพิ่มผู้เล่นในตลาดหลากหลาย โดยเฉพาะกลุ่มทุนใหญ่อาลีบาบา และเจดี ดอทคอม กลายเป็นผู้มาใหม่ที่พกทุนหนาและเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จึงกลายเป็นเป้าสายตาของอุตสาหกรรมภาคการเงินที่อาจถูกเขย่าบัลลังก์สำหรับเมืองไทย

 

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า กล่าวให้ความเห็นกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การขยายธุรกิจเข้ามาในไทยของอาลีบาบา และเจดีดอทคอม ผ่านโลคัลพาร์ต เนอร์นั้นเป็นแนวทางการทำธุรกิจที่ทำให้เข้าสู่ตลาดได้เร็ว ไม่ต้องมาสร้างใหม่

 

อย่างไรก็ตามปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้บรรจุเรื่องดังกล่าวไว้ในแผนอี-คอมเมิร์ซแห่งชาติ ซึ่งต้องมีทางออกให้กับผู้ประกอบการแพลตฟอร์มอี-มาร์เก็ตเพลสในประเทศ อาทิ เทพช็อป หรือ ตลาดคอตคอม โดยภาครัฐจะ ต้องมีเงินทุนให้การสนับสนุนกับผู้ประกอบการเหล่านี้ เพื่อให้แข่งขัน และอยู่รอดได้

 

“ไม่อยากให้มองว่าธุรกิจอี-คอมเมิร์ซไทยถูกกินรวบโดยผู้ให้แพลตฟอร์มอี-มาร์เก็ตเพลสจากจีนทั้งหมด เพราะมองการเข้ามาของผู้ประกอบการเหล่านี้ เป็นผลดีกับเอสเอ็มอี ในการนำสินค้าเข้าไปขายบนแพลตฟอร์มเหล่านี้ออกไปยังต่างประเทศ และเป็นการกระตุ้นผู้ประกอบการในประเทศให้มีการปรับตัว ให้สามารถสู้ได้อย่างคนตัวเล็ก”

TP-15-3299-7 ส่วนกรณีที่ผู้ให้บริการทั้ง 2 รายขยายเข้ามาสู่ธุรกิจบริการธุรกรรมการเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นมองว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้กระทบกับไทยประเทศเดียว แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งมองว่าช่วยกระตุ้นธนาคารไทย ซึ่งที่ผ่านมาทำธุรกิจแบบเสือนอนกินมาตลอดต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การกู้เงิน ในเร็วๆ นี้จะมีบริการคลาวด์ฟันดิ้ง เข้ามาเป็นทางเลือกการกู้เงิน อย่างไรก็ตาม ภาครัฐต้องมีการวางยุทธศาสตร์ให้ผู้ประกอบการในประเทศสามารถแข่งขัน และอยู่รอดได้ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิตอล

 

ด้านธนาคารแห่งประ เทศไทย(ธปท.) ระบุว่า บริษัทแอนท์ ไฟแนนเซียล เซอร์วิสฯ ไม่ได้ประสงค์เข้ามาขอใบอนุญาตทำอี-มันนี่ในไทย ตอนนี้เป็นเพียง พาร์ตเนอร์ที่ทำธุรกิจร่วมกับทรูมันนี่ โดยยังไม่ได้เข้ามาให้บริการอีมันนี่ ให้กับคนไทยแต่อย่างใด

 

แหล่งข่าวจากบริษัท แอสเซนด์ฯ ให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มการทำตลาดภาคการเงิน ภาย หลังการเข้ามาของกลุ่มทุนต่างประเทศว่า การเข้ามาของทุนต่างประเทศทั้งบริการชำระเงิน โอนเงิน บริหารความมั่งคั่ง(Wealth)รวมทั้งการซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ซ และเทลโก้ เหล่านี้เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่แข่งขันกับธนาคาร ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างผู้ประกอบการกับคู่ค้าและระหว่างผู้บริโภคทั่วไปในการทำธุรกรรมทางการเงิน

 

เมื่อสภาพตลาดเปลี่ยนจะเห็นทุกธนาคารต้องปรับตัวตั้งแต่ความคิดเชิงกลยุทธ์ พัฒนาบริการและช่องทางดิจิตอลเพื่อตอบสนองคู่ค้า ธุรกิจและผู้บริโภค เช่น โมบายแบงกิ้งที่มีฟีเจอร์ ฟังก์ชันตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น ขณะเดียวกันผู้บริโภคจะเลือกใช้บริการอื่นๆที่สามารถตอบโจทย์ได้ดีกว่าเดิม

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว