บิ๊กทุน ‘ไทย-เทศ’ ตบเท้า รุมเซ้งที่ดินทอง! รอบสุวรรณภูมิ ผุดแลนด์มาร์ค ยึดช้อปปิ้งโลก

24 ก.ย. 2560 | 04:50 น.
ทอท. จ่อประมูล 3 ทำเลทองสุวรรณภูมิหลายหมื่นล้าน “ดิวตี้ฟรี-รีเทล” 5.3 หมื่นตร.ม. ดีเดย์ก.พ.ปีหน้า งัดที่ดิน 2 แปลงงาม ให้เอกชนสร้างเมืองใหม่ คาดทุนไทยเทศมาครบทั้งเซ็นทรัล-เดอะมอลล์-ไมเนอร์-อาลีบาบา-ล็อตเต้-Shilla

จากตัวเลขผู้โดยสารที่ใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปี 2559 มีจำนวน 55.89 ล้านคน ทอท. จึงเร่งขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็นำที่ดินว่างเปล่าเกือบ 1,623 ไร่มาปัดฝุ่นเปิดให้เอกชนเข้าไปพัฒนาใน3 พื้นที่หลัก มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท และยังจะเปิดประมูลหาผู้บริหารดิวตี้ฟรีรายใหม่แทน
คิงเพาเวอร์ ที่จะหมดสัญญาในวันที่ 27 กันยายน 2563 ด้วย

นายวิชัย บุญยู้ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจและการตลาด บมจ. ทอท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป ทอท.มีแผนจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ทั้งในและรอบสนามบินสุวรรณภูมิใน 3 พื้นที่หลัก ได้แก่ 1.พื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อรองรับการให้บริการดิวตี้ฟรีและรีเทลรายใหม่ และพื้นที่เชิงพาณิชย์ แทนคิงเพาเวอร์ ที่จะหมดสัญญา ปี 2563 รวมถึงการให้บริการเชิงพาณิชย์ในส่วนของโครงการเฟส 2 ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 2. การพัฒนาพื้นที่แปลง 37 ของกรมธนารักษ์ ร่วม 900 ไร่ และ 3. ที่ดินบริเวณถนนวัดศรีวารีน้อย 723 ไร่ ที่ซื้อมาตั้งแต่ก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ โดยการพัฒนาในทุกโครงการจะเป็นไปตามพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 หรือ พีพีพี

**เปิดชิงรีเทล-ดิวตี้ฟรี
ทั้งนี้การพัฒนาพื้นที่รีเทลและดิวตี้ฟรีภายในสนามบินสุวรรณภูมิ คาดว่าจะเริ่มประมูลในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 จะมีการแยกออกเป็น 2 สัญญา รวมพื้นที่กว่า 5.3 หมื่นตารางเมตร ได้แก่ สัญญาการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (รีเทล) 3.4 หมื่นตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมที่หมดสัญญา 2 หมื่นตารางเมตร รวม 2 พื้นที่ใหม่ในอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่1 พื้นที่ 4,000 ตารางเมตร และอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 พื้นที่ 1 หมื่นตารางเมตร และสัญญาดิวตี้ฟรี 1.9 หมื่นตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมที่หมดสัญญา 1.1 หมื่นตารางเมตร รวม 2 พื้นที่ใหม่ในอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 ราว 3,000 ตารางเมตรและอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ราว 5,000 ตารางเมตร

“ขณะนี้ทอท.ได้ว่าจ้างบริษัทไพร์มสตรีท ประเทศไทย จำกัด เข้ามาศึกษาเรื่องพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ. 2556 (พ.ร.บ.พีพีพี) เนื่องจากการคัดเลือกเอกชนเข้ามาดำเนินการรีเทลและดิวตี้ฟรีในครั้งนี้มีพื้นที่มากกว่าในอดีต ซึ่งคาดว่าจะเกิน 1,000 ล้านบาทแต่ไม่ถึง 5,000 ล้านบาท ซึ่งทางไพร์มสตรีท จะศึกษาแล้วเสร็จในปลายเดือนหน้า”

รองผู้ว่าการ ทอท.ยังระบุอีกว่า นอกจากนี้ทอท.ยังจะมีการแยกพื้นที่การให้บริการจุดส่งมอบสินค้าดิวตี้ฟรี (Pick Up Counter) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ออกมาเปิดประมูลเป็นอีกสัญญาหนึ่ง ซึ่งจะเปิดประมูลในปี2562 เพื่อให้ผู้ประกอบการดิวตี้ฟรีในเมืองได้ใช้พื้นที่ร่วมกัน(Common Use) เหมือนกับที่ดำเนินการอยู่แล้วที่สนามบินภูเก็ต

**แก้ผังสีพัฒนาที่ศรีวารีฯ
นายวิชัยยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของการพัฒนาพื้นที่แปลง 37 ที่อยู่ด้านนอกสนามบิน พื้นที่บางส่วนทอท.ได้นำไปทำโครงการลู่ปั่นจักรยานหรือสกายเลน แต่ยังเหลือพื้นที่ราว 900 ไร่ มีแผนจะนำมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการหลัก 10 โครงการ ได้แก่ โรงแรม, การขนส่งและโลจิสติกส์, สำนักงานและศูนย์ธุรกิจ, ร้านค้าและศูนย์การค้า, การท่องเที่ยวและนันทนาการ, การประชุม สัมมนาและนิทรรศการ, ที่พักอาศัย, การกีฬา, การรักษาพยาบาล และกิจกรรมอื่นๆ ที่จะตกลงกัน โดยยังเหลืออายุสัญญาการใช้ที่ดินกับกรมธนารักษ์ อีกราว 15 ปี

“หากทอท.ได้มีการลงนามแก้ไขข้อตกลงการใช้ที่ราชพัสดุแปลงสนามบินสุวรรณภูมิ กับ กรมธนารักษ์ และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการต่างๆ หรือโปรเจ็กต์ ซาวดิ้ง เพื่อให้เอกชนที่สนใจเสนอโครงการเข้ามาได้”

ทั้งนี้ในส่วนการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในพื้นที่แปลงถนนวัดศรีวารีน้อย 723 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของทอท. มีแผนพัฒนาใน 6 โครงการหลัก ได้แก่ ศูนย์กลางขนส่งและกระจายสินค้า หรือ แอร์พอร์ต โลจิสติกส์ พาร์ก, ศูนย์กลางการประชุมและแสดงสินค้า, ศูนย์จำหน่ายสินค้าจากโรงงาน, ศูนย์รวมชุมชนตลาดไทยโบราณและพิพิธภัณฑ์, ออฟฟิศ คอมเพล็กซ์ และเรสิเดนต์ คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกราว 2ปี จึงจะพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ในพื้นที่แปลงนี้ได้

เนื่องจากปัจจุบันเป็นพื้นที่สีเขียว ซึ่งในขณะนี้ทอท.ได้หารือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อขอแก้ไขผังเมืองให้เป็นพื้นที่สีแดง ซึ่งทางนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ จะเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้ รวมถึงการพัฒนาสาธารณูปโภค ถนนเส้นทางเข้า-ออก ให้เชื่อมกับสนามบินสุวรรณภูมิได้ เพื่อรองรับการเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนในโครงการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น

P1-3299-A **บิ๊กธุรกิจใน-นอกจ้องเสียบ
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากทอท.กล่าวว่า ทอท.มั่นใจว่าการเปิดให้เอกชนมาร่วมพัฒนาใน 3 พื้นที่หลักดังกล่าวของสนามบินสุวรรณภูมิ จะได้รับความสนใจจากเอกชนสูงมาก เพราะการพัฒนาพื้นที่แปลง 37 ก่อนหน้านี้ในยุคที่นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ทอท. เคยมีการพูดถึงการพัฒนาโครงการแอร์พอร์ตซิตี้และมีเอกชนซึ่งเป็นธุรกิจรีเทลและธุรกิจรายใหญ่ 4-5 รายก็แสดงความสนใจ

แต่ติดปัญหาเรื่องความชัดเจนของข้อตกลงการใช้ที่ราชพัสดุ และเรื่องค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุ แต่ขณะนี้เมื่อทอท.และกรมธนารักษ์มีความชัดเจนในเรื่องนี้ ก็เชื่อว่าเอกชนที่รอมานานก็คงพร้อมเสนอตัว รวมถึงทางอาลีบาบา ยังได้แสดงความสนใจผ่านมายังรัฐบาลไทยโดยแสดงความสนใจที่จะใช้ที่ดินแปลง 37 ในการสร้างคลังสินค้า เพื่อทำเป็นศูนย์กลางขนส่งและกระจายสินค้าในพื้นที่ดังกล่าว โดยต้องการพื้นที่กว่า 900 ไร่ด้วย

เช่นเดียวกับพื้นที่รีเทลและดิวตี้ฟรีภายในสนามบิน เชื่อว่าจะพัฒนาค้าปลีกรายใหญ่อย่าง กลุ่มเซ็นทรัล, ไมเนอร์, เดอะมอลล์, ดิวตี้ฟรีรายเก่า รายใหม่อย่าง คิงเพาเวอร์, ล็อตเต้ และ Shilla ที่ได้ร่วมลงทุนดาวน์ทาวน์ดิวตี้ฟรีที่ภูเก็ตกับทางกลุ่มเดอะมอลล์ก็คงสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลพื้นที่ใหม่ในสนามบินสุวรรณภูมิ และเชื่อว่าธุรกิจจะแข่งขันเสนอค่าตอบแทนที่ดีเพื่อให้ชนะการประมูล แหล่งข่าวกล่าว

**เดอะมอลล์พร้อม
ต่อเรื่องนี้นายไพบูลย์ กนกวัฒนาวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เดอะ มอลล์ กรุ๊ปสนใจเข้าร่วมประมูลพื้นที่ของทอท.และกรมธนารักษ์ที่จะพัฒนาเป็นพิ้นที่เชิงพาณิชย์ทั้ง 3 จุดแน่นอน แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขและข้อกำหนดใน TOR ว่าต้องมีความเป็นธรรม ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง หรือทำให้เกิดความไม่โปร่งใสได้

“ผู้ที่เข้าร่วมประมูล ต้องรู้ว่าเขามีโอกาสมากน้อยแค่ไหน หากรู้ว่าประมูลไปแล้วไม่ชนะ จะเสียเงินหลักแสนซื้อซองประมูลทำไม ถ้าเงื่อนไขใน TOR แฟร์ ไม่กำหนดเกณฑ์ที่ใช้ในการพิจารณาว่ามาจากเงินตอบแทน 20% และแผนธุรกิจ 80% บริษัทก็พร้อมที่จะเข้าร่วมประมูล”

อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อหรือมีข้อมูลต่างๆ จึงยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะพัฒนาเป็นอะไรได้บ้าง ต้องศึกษาถึงทำเล กลุ่มลูกค้า และจำนวนลูกค้าว่าต้องการอะไรเพราะเดอะมอลล์เองมีความพร้อมเรื่องเงินทุน เช่นเดียวกับโอเปอเรเตอร์รายใหญ่ๆ อยู่แล้ว นายไพบูลย์กล่าว

**เดินมาสเตอร์แพลน
นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ทอท. เผยว่าหลังทอท.มีแผนแม่บทการขยายสนามบิน
ทั้ง 6 แห่ง เพื่อขยายศักยภาพ
การรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปแล้ ต่อไปจะมีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของสนามบินต่างๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว