ทีวีดิจิตอลดิ้นสู้วิกฤต! "อสมท.-สปริงนิวส์-ช่อง 3" จัดทัพ โหมออนไลน์ ปั้นรายได้

26 ก.ย. 2560 | 04:31 น.
“ทีวีดิจิตอล” ไม่พ้นวิกฤติ! “เปลี่ยนนายทุน/คืนช่อง” ไม่ใช่ทางออก จับตา! ดิจิตอลแพลตฟอร์มทางเลือกใหม่ “อสมท.-สปริงนิวส์-ช่อง 3” เดินหน้าต่อยอดรายได้คอนเทนต์ พร้อมขยับทัพสู้ศึก ขณะที่ เม็ดเงินโฆษณา 8 เดือน ทะลุ 70,000 ล้านบาท ยังลดลงต่อเนื่อง

การเปลี่ยนผ่านครั้งประวัติศาสตร์ของ “ทีวี” เมืองไทย ที่คาดการณ์ว่า จากผู้เล่นเดิม 6 ช่อง เมื่อขยายเพิ่มเป็น 24 ช่อง เม็ดเงินโฆษณาที่จะสะพัดในสื่อทีวี ซึ่งเป็นสื่อหลักก็จะเพิ่มทวีคูณขึ้น สนามประมูลทีวีดิจิตอลจึงเลือดสาด อัดงบกันเต็มที่ ผ่านมา 3 ปีเศษ วันนี้สื่อทีวี (นับรวมทั้งทีวีอนาล็อกและทีวีดิจิตอล) เบ็ดเสร็จก็ยังเป็นสื่อหลักของประเทศด้วยสัดส่วน 60-65% เช่นเดิม แต่เม็ดเงินโดยรวมยังคงถูกใช้ในทีวีอนาล็อก แทนที่จะเป็นทีวีดิจิตอล ทำให้วันนี้ผู้เล่นทุกรายต่างเผชิญกับคำว่า “ขาดทุน” ธุรกิจที่เคยคิดว่าจะ “หอมหวาน” วันนี้ต้อง “บาดเจ็บ” ถึงขั้นต้องเร่หานายทุนใหม่ รวมถึงร้องขอคืนช่อง เพื่อปลดแอกตัวเอง

จับตา! เร่หานายทุนใหม่เพิ่ม
นับจาก “เหยื่อ” รายแรก “ไทยทีวี” ของเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล ที่ประเดิมให้กับทีวีดิจิตอลไปหลังออนแอร์เพียง 1 ปี ต้องยอมรับว่า ตลอดปี 2559 เป็นช่วงที่ผู้เล่นหลายรายเริ่มวิ่งหาทางออก โดยอาศัยช่องโหว่ของใบอนุญาตฯ ผู้เล่นที่ชิงทำได้ก่อน จึงเป็นกลุ่มที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มอมรินทร์ที่ได้ “กลุ่มสิริวัฒนภักดี” เข้ามาถือหุ้น 47% ทำให้ได้สิทธิ์ในการบริหารช่องอมรินทร์ทีวี และยังถือหุ้น 50% ในกลุ่มจีเอ็มเอ็ม จึงได้สิทธิในการบริหารช่องจีเอ็มเอ็ม 25 ไปด้วย ขณะที่ “กลุ่มปราสาททองโอสถ” เข้าถือหุ้น 50% ในช่องวัน ของกลุ่มจีเอ็มเอ็มเช่นกัน ส่วน “กลุ่มคิง เพาเวอร์” ก็ขอเอี่ยวด้วยการเข้าถือหุ้นในช่อง 8 ของกลุ่มอาร์เอส ในสัดส่วน 9% แบบกรุบกริบ ๆ

การเปลี่ยนมือผู้เล่นในแต่ละครั้งที่ผ่านมา ไม่เข้าข่ายผิดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ตามที่ กสทช. กำหนด จึงสามารถกระทำได้ แนวโน้มการหาพันธมิตรมาร่วมลงทุน จึงยังเป็นเกมที่น่าจับตา โดยเฉพาะใน “ช่องทีวีดิจิตอลย่านบางนา”

หนุนใช้มาตรา 44 “ขอคืนช่อง”
ขณะที่ การ “คืนช่อง” เป็นอีกทางออกที่น่าสนใจ แต่การจะสิ้นสุดวาระของ กสทช. ในสิ้นปีนี้ กลายเป็นช่วงสูญญากาศ ดังนั้น “พลัง” ของผู้ประกอบการ จึงต้องมากพอที่จะร้องขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 เข้ามาช่วยปลดแอก

โดย นายเขมทัตต์ พลเดช กล่าวในฐานะนายกสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ว่า ปัญหาของทีวีดิจิตอลในวันนี้ ต้องแก้ที่กฎหมายเรื่องใบอนุญาตฯ ถ้าเห็นชอบว่า ให้ “คืนช่อง” ได้ ก็ต้องมีเงื่อนไขหรือข้อกำหนดที่ชัดเจนและเป็นธรรม ว่า ช่องประเภทใดที่คืนได้ ไม่ใช่เปิดกว้างทุกช่องว่า สามารถคืนได้ ซึ่งที่ผ่านมา ทุกคนรับรู้ว่า ช่องที่ประสบปัญหามากที่สุด คือ “ช่องเด็ก” ตามด้วยช่องข่าว เพราะช่องที่มีอยู่มีจำนวนมากเกินไป อย่างน้อยผลกระทบที่ได้รับ คือ ลดความรุนแรงของการแข่งขันลง ทำให้ผู้ประกอบการในวงการไม่ทะเลาะกัน

ส่วนช่อง SD และ HD ใช่ว่าจะไม่มีปัญหา แม้ช่องเหล่านี้จะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ มีความแข็งแกร่ง แต่กว่าครึ่งก็ยังประสบปัญหาขาดทุน

“วันนี้ ทีวีดิจิตอลยังติดขัดในหลายเรื่อง เป็น HD แต่การรับชมกลับไม่คมชัด มีช่องข่าว แต่ก็กำหนดให้ทุกช่องต้องมีข่าวไม่ต่ำกว่า 25% และด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว จากเดิมที่เป็นบรอดแคส ก็เปลี่ยนเป็นเพอร์ซันนัลแคสต์ ทุกคนสามารถเป็นสำนักข่าวได้เอง ทางออกของปัญหาจึงต้องแก้ด้วยกฎหมาย และปรับแผนให้เข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภค”

ต่อยอดสู่ดิจิตอลแพลตฟอร์ม
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารช่อง 9 MCOT HD และ MCOT Family กล่าวว่า เกือบทุกช่องยังขาดทุน อสมท ก็ขาดทุน สิ้นปีนี้ก็ยังขาดทุน แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้น คือ “เรตติ้ง” จากเดิมที่เคยอยู่ในอันดับ 13 ปัจจุบันขยับขึ้นมาเป็นอันดับ 10 และเชื่อว่า จะไต่ขึ้นมาอยู่ในอันดับ 8 ตามที่เป้าหมายไว้แน่นอน

 

maxresdefault

 

“สิ่งที่ได้จาก ‘เรตติ้ง’ ที่ดีขึ้น คือ ‘ความเชื่อมั่น’ และ ‘รายได้’ ที่จะเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องลดต้นทุนภายใน เพื่อลดการขาดทุนให้มากที่สุด”

วันนี้ อสมท จัดโครงสร้างภายในให้มีกระบวนการที่แข็งแรงขึ้น ปรับวิธีคิด วิธีการทำงาน หลอมรวมวิธีคิดให้ไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยแนวคิด “one team one company one direction” ไม่ใช่ต่างคนต่างคิด ปีนี้จึงเป็นปีที่ อสมท จะกลับมาเป็นเอ็นเกจเมนต์กับพาร์ตเนอร์มากขึ้น เพื่อตอบโจทย์สิ่งที่ผู้ชม ผู้ฟัง ลูกค้าต้องการ

“จะมีพาร์ตเนอร์ใหม่เข้ามาให้เห็นในช่วง 3-4 เดือนนี้ จะมีรายการใหม่ให้เห็นในเดือน พ.ย. นี้ รวมถึงความร่วมมือกับต่างชาติที่จะสร้างภาคีให้ อสมท แข็งแรงขึ้น”

บิ๊ก อสมท ยังบอกอีกว่า วันนี้ยังประเมินรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาที่จะไหลเข้าสู่ทีวีดิจิตอลยาก ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ จึงต้องหาแหล่งรายได้ใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็น การนำคอนเทนต์ที่มีอยู่ ไปต่อยอดในดิจิตอลแพลตฟอร์ม ซึ่งบทบาทต่อไปของ อสมท คือ ต้องเปลี่ยนตัวเองให้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม อีกส่วนหนึ่งจะเป็นรายได้ที่มาจากการทำตลาดแบบครบวงจร และการทำอี-คอมเมิร์ซ

MP36-3299-A
แตกไลน์กีฬา-บันเทิง
ความร้อนแรงของดิจิตอลแพลตฟอร์ม ไม่ได้เรียกความสนใจจาก อสมท เท่านั้น แต่ทีวีดิจิตอลหลายช่องต่างเตรียมพร้อมที่จะหาโอกาสในการต่อยอดธุรกิจเช่นกัน รวมถึงช่อง “สปริงนิวส์” โดย น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สปริงนิวส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้บริหารสถานีข่าว “สปริงนิวส์” กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในธุรกิจทีวีดิจิตอลวันนี้ ทำให้หลายช่องต้องปรับตัว จะใช้รูปแบบรายการเดิม ๆ ต่อไปไม่ได้

 

CI-SPRINGNEWS-GOLD

 

“ต้องปรับวิธี ปรับกลยุทธ์หน้าจอ ปรับรูปแบบรายการ”

“สปริงนิวส์” เริ่มจัดเซกเมนต์ข่าวที่ชัดเจน กำหนดกลุ่มผู้ชมที่ชัดขึ้น โดยปีนี้ถือเป็นปีแห่งการจัดทัพปรับกองบรรณาธิการ โดยเพิ่มทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาจัดการเรื่องของออนไลน์ ดิจิตอล แพลตฟอร์ม เพื่อให้แล้วเสร็จและพร้อมเดินต่อไปในปี 2561

อีกหนึ่งกลยุทธ์ที่จะเกิดขึ้น คือ การแตกไลน์ผลิตภัณฑ์และแบรนด์ในกลุ่มกีฬาและบันเทิง เพราะเป็นกลุ่มที่มีความน่าสนใจและมีความหลากหลาย ทำให้สามารถเข้าถึงโฆษณาและเป็นสปอนเซอร์ได้ง่ายกว่า โดยคอนเทนต์เหล่านี้จะมุ่งไปที่ออนไลน์เป็นหลัก

ปั้น! แพลตฟอร์มออนไลน์
ขณะที่ นายประชุม มาลีนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท บีอีซีเวิลด์ฯ และรองประธานกรรมการ บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) ที่เร่งปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ เพื่อมุ่งสร้างรายได้จากธุรกิจคอมเมอร์เชียล หรือ ธุรกิจบริหารลิขสิทธิ์ศิลปิน (Artist Management) และธุรกิจออนไลน์ไปก่อนหน้านี้ ก็เดินหน้าปั้นแพลตฟอร์มออนไลน์เช่นกัน

 

image308

 

“จากเทรนด์ ‘สื่อออนไลน์’ มีอัตราการเติบโตสูง และเป็นเทรนด์ที่สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ‘ช่อง 33’ จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งในส่วนของเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ภายใต้ชื่อ ‘เมลโล (Mello)’ เข้ามาทำตลาด เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในช่องทางออนไลน์ ซึ่งในอนาคตบริษัทมีแผนที่จะพัฒนาคอนเทนต์ใหม่มาออกอากาศในช่องทางของเมลโลโดยเฉพาะด้วย”

“GMM25” ขยายยกแพ็กเกจ

 

GMM25png

 

หลังขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับกลุ่มเจริญสิริวัฒนภักดี "ช่องจีเอ็มเอ็ม 25” ก็นำเงินทุนนี้ไปพัฒนาคอนเทนต์และทำการสื่อสารการตลาด รวมถึงการซื้อลิขสิทธิ์รายการจ่างต่างประเทศเพิ่มเข้ามาเสริมพอร์ต โดย นางสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยาฯ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มีเดีย บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 มีแผนขยายฐานเป้าหมาย “กลุ่มเจน ซี” ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นฐานคนดูที่ไม่จำกัดเฉพาะอายุ แต่เป็นกลุ่มที่มีไลฟ์สไตล์การเสพสื่อที่ทันสมัย ชอบเทคโนโลยี และเสพสื่อที่หลากหลาย ขณะเดียวกัน ยังจะขยายกลุ่มผู้ชมไปยังต่างจังหวัดมากขึ้นด้วย แต่ทางช่องจีเอ็มเอ็ม 25 จะไม่ลงไปแข่งขันในตลาดแมส ส่วนการขายโฆษณานั้น ได้มุ่งเน้นการขายในรูปแบบวันสต็อปช็อปปิง ที่ให้บริการสื่อแบบครบวงจร เป็นการผสานสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่เข้ามาไว้ด้วยกัน ในรูปแบบแพ็กเกจ ทั้งออนแอร์ ออนไลน์ และออนกราวด์

8 เดือน โฆษณา 7 หมื่นล้าน
จากตัวเลขของ บริษัท นีลเส็น จำกัด พบว่า ตั้งแต่ปี 2556 มีเม็ดเงินโฆษณาโดยรวม 1.13 แสนล้านบาท มาจากสื่อทีวี 6.92 หมื่นล้านบาท ในปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบทีวีดิจิตอล (เริ่มออกอากาศ เม.ย. 2557) เม็ดเงินโฆษณาทั้งระบบเพิ่มขึ้นเป็น 1.18 แสนล้านบาท มาจากสื่อทีวี 7.23 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ทีวีอนาล็อก 6.37 หมื่นล้านบาท และทีวีดิจิตอล 8,581 ล้านบาท, ปี 2558 เม็ดเงินโฆษณาทั้งระบบ 1.22 แสนล้านบาท มาจากสื่อทีวี 7.84 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ทีวีอนาล็อก 5.75 หมื่นล้านบาท และทีวีดิจิตอล 2.09 หมื่นล้านบาท, ปี 2559 เม็ดเงินโฆษณาทั้งระบบ 1.07 แสนล้านบาท มาจากสื่อทีวี 6.75 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ทีวีอนาล็อก 4.71 หมื่นล้านบาท และทีวีดิจิตอล 2.03 หมื่นล้านบาท ขณะที่ ในปี 2560 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค. พบว่า มีเม็ดเงินโฆษณารวม 7.04 หมื่นล้านบาท มาจากสื่อทีวี 4.40 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ทีวีอนาล็อก 2.89 หมื่นล้านบาท และทีวีดิจิตอล 1.51 หมื่นล้านบาท ลดลง 8.44% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24-27 ก.ย. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว