เซ็นทรัลแล็บเดินเครื่องยกระดับมาตรฐาน SMEs เล็งทำคูปองแจกเพิ่มพร้อมเสนอเป็นวาระแห่งชาติ

27 ก.ย. 2560 | 12:30 น.
บริษัท ห้องปฏิบัติการ
กลาง (ประเทศไทย) จำกัด (CENTRAL LAB THAI) คือหน่วยงานทางด้านการตรวจสอบมาตรฐานระดับสากลที่ได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025 ซึ่งมีรายการตรวจเกือบ 1,000 รายการ และมีสาขาในการให้บริการทั่วประเทศ 6 แห่ง เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ โดยมีสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ถือหุ้น 51% และกระทรวงการคลังถือหุ้น 49% ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่เน้นการส่งออกเข้ามาใช้บริการ และเป็นผลิตภัณฑ์ทางด้านอาหารประมาณ 70%

ทั้งนี้ ภายใต้การนำของกรรมการผู้อำนวยการ
คนใหม่อย่าง สุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ ที่เข้ามารับตำแหน่งได้ประมาณ 5 เดือน โดยมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การดำเนินการให้เป็นแล็บประชารัฐ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ให้มีโอกาสเข้าถึงการตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ทางด้านต่างๆ ซึ่งหวังผลจะทำให้ผลิตภัณฑ์ได้ผ่านการตรวจสอบ เพื่อให้สามารถนำไปเพิ่มมูลค่าและทำตลาดในระดับโลกได้

[caption id="attachment_211529" align="aligncenter" width="335"] สุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ สุรชัย กำพลานนท์วัฒน์[/caption]

**ยกระดับมาตรฐานสินค้าเอสเอ็มอี
สุรชัย ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เท่าที่ได้เข้ามาสัมผัสงานของแล็บประชารัฐพบว่ากลุ่มเอสเอ็มอีมีความสนใจที่จะนำผลิตภัณฑ์เข้ามาตรวจสอบมาตรฐานจากแล็บ แต่ยังติดเรื่องของค่าใช้จ่ายในการเข้ามาใช้บริการเพราะฉะนั้นการดำเนินยุทธศาสตร์จึงจะทำใน 2 พันธกิจควบคู่กันไป ทั้งการให้บริการแบบเดิมในการสนับสนุนผู้ประกอบการทางด้านส่งออก เพื่อตอบโจทย์การทำธุรกิจในระดับโลก และการตอบสนองธุรกิจระดับฐานรากด้วยแล็บประชารัฐ โดยทั้ง 2 พันธะกิจจะถูกแยกออกจากกันอย่างชัดเจน แต่จะมีจุดเชื่อมโยงเดียวกันคือ การยกระดับมาตรฐานสินค้า ด้านความปลอดภัยสินค้าทั้งระบบตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทาง เรียกว่าครบทุกห่วงโซ่ของธุรกิจ

ทั้งนี้ ในส่วนของกลุ่มส่งออกนั้น มองว่าไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วงเพราะส่วนใหญ่มีสภาพคล่องที่เพียงพอ แต่กับเอสเอ็มอีจะต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือ ดังนั้นแล็บประชารัฐจึงไปประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆที่ดูแลเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นสสว., ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์, กระทรวงอุตสาหกรรม และกรมการพัฒนาชุมชน เป็นต้น เพื่อของบประมาณในการจัดสรรเป็นคูปองมูลค่า 5,000 บาทให้กับเอสเอ็มอีได้นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเข้ารับบริการ

TP13-3299-2 นอกจากนี้ ในส่วนของภาคเกษตรกรรมยังได้ร่วมมือกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ซึ่งดูแลเกษตรทั่วประเทศกว่า 10 ล้านราย เพื่อเข้าไปให้บริการตรวจ และวิเคราะห์คุณภาพของผลผลิต ตั้งแต่ดิน นํ้า ปุ๋ยกับผลไม้ทุกประเภท ในการหาสารปนเปื้อน หรือโลหะหนัก โดยจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการยกระดับสินค้าเกษตรให้เป็นเกษตรอินทรีย์ ซึ่งหากเกษตรกรรายใดสามารถผ่านขั้นตอนการตรวจสอบก็จะได้มาตรฐานสากล และอยู่ในเกณฑ์ของสินค้าส่งออก โดยเป็นการเพิ่มมูลค่าที่จะช่วยในการโปรโมตผลิตภัณฑ์ และการขายนอกพื้นที่ รวมถึงขายในตลาดออนไลน์ และเข้าห้างสรรพสินค้าได้โดยสะดวก

“ในปีนี้เราตั้งเป้าที่จะช่วยระดับเอสเอ็มอีให้ได้ประมาณ 5,000 ราย ภายใต้การแจกคูปองเข้ารับบริการที่แล็บจากหน่วยงานพันธมิตรที่เราจับมือด้วย เช่น คูปองจาก สสว. จำนวน 8,000 ใบ, เอสเอ็มอีเดเวลลอปเม้นท์แบงก์จำนวน 1,000 ใบ และ ธ.ก.ส. จำนวน 100 ใบ เป็นต้น

**ขอ สสว.ทำคูปองแจกหมื่นใบปี 61
สุรชัย กล่าวต่อไปว่า จากกระแสตอบรับที่ดีอย่างมากจากเอสเอ็มอี บริษัทจึงจะดำเนินโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการนำเสนอเรื่องไปยัง สสว. เพื่อขออนุมัติงบประมาณจัดทำเป็นคูปองให้กับเอสเอ็มอีอีก 10,000 ใบในปี 2561 พร้อมประสานหน่วยงานพันธมิตรเดิมให้ดำเนินโครงการร่วมกันในรูปแบบของการแจกคูปองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็จะมีงบประมาณประจำของแต่ละหน่วยงาน เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่เคยถูกนำมาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยมองว่าการแจกคูปองเป็นการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม เอสเอ็มอีได้ประโยชน์และเก็บผลได้โดยตรง

อย่างไรก็ดี บริษัทยังต้องการให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเอสเอ็มอี ด้วยการจัดตั้งเป็นยุทธศาสตร์ หรือวาระแห่งชาติทางด้านเอสเอ็มอี โดยการจัดสรรงบประมาณให้ปีละ 100-500 ล้านบาท ในการทำโครงการคูปองให้เอสเอ็มอี เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้อย่างทั่วถึงทั้งประเทศ ซึ่งเพียงมีงบประมาณ 100 ล้านบาทก็จะช่วยเอสเอ็มอีได้แล้วอย่างน้อย 20,000 ราย

TP13-3299-1 “ปีนี้เราตั้งเป้าช่วยยกระดับเอสเอ็มอีให้ได้ 5,000 ราย ขณะที่ในปีหน้าเชื่อว่าจะยกระดับเอสเอ็มอีได้เพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ราย และในปีถัดไปอีก 15,000 ราย โดยการดำเนินการจะเป็นไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน”

**เชื่อดันจีดีพีขยายตัวได้
สุรชัย กล่าวอีกว่า การดำเนินการดังกล่าวของแล็บฯ เชื่อว่าจะมีส่วนในการผลักดันจีดีพีของประเทศให้ขยายตัวได้ เพราะจีดีพีเติบโตได้จากการส่งออก ซึ่งฐานของการส่งออกมาจากเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโอท็อป วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร โดยสินค้าทั้งสดและแปรรูปจะต้องมาจากเกษตรกร หากแล็บฯเข้ามาตรวจสอบช่วยยกระดับมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์ สินค้าที่ส่งออกไปก็จะได้รับความน่าเชื่อถือ การค้าขายก็จะทำได้มากขึ้น ไม่ว่าจะส่งออกไปยังภูมิภาคใดของโลก ซึ่งจะมีผลต่อจีดีพีอย่างแน่นอน แต่ประเด็นที่สำคัญคือจะต้องทำผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานเสียก่อน

“หากเอสเอ็มอีรายเล็กมีผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานก็จะสามารถทำตลาดได้กว้างมากขึ้นจากระดับอำเภอไปสู่ระดับจังหวัดต่อเนื่องไปยัง
ทั่วประเทศ และส่งออกเป็นลำดับ โดยใช้มาตรฐานเป็นเครื่องมือนำ และให้หน่วยงานของรัฐมาเสริมเรื่องของนวัตกรรม เติมเรื่องเทคโนโลยี และเพิ่มเงินทุน ก็จะแข่งขันในตลาดโลกได้ โดยเราเชื่อว่าการจะทำให้ผู้ประกอบการอยู่ได้ในระยะยาวจะต้องทำผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานก่อน เรื่องอื่นค่อยมาช่วยเสริมภายหลัง”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว