ภาษีที่ดินกับการสร้างวินัยการใช้เงิน ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (1)

26 ก.ย. 2560 | 23:25 น.
TP7-3299-2 เมื่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศจะเสนอร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นักเศรษฐศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่ต่างชื่นชมในความกล้าหาญทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ เพราะเราทราบดีว่ารัฐสภาไทยจะไม่กล้าตรากฎหมายเก็บภาษีที่ดินจากคนรวย

ภาษีที่ดินเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่ช่วยให้ท้องถิ่นมีรายได้ของตนสำหรับใช้พัฒนาท้องถิ่นตามความต้องการของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ ทำให้ท้องถิ่นสามารถพึ่งตนเองและมีอิสระทางการเงินในระดับหนึ่ง ภาษีที่ดินช่วยลดความเหลื่อมลํ้าทางเศรษฐกิจ เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดินเพราะภาษีที่ดินสามารถลดการเก็งกำไรจากการถือครองที่ดินที่ทิ้งไว้เฉยๆ โดยไม่ทำประโยชน์ได้ ยิ่งกว่านั้นภาษีที่ดินยังเป็นเครื่องมือการคลังสำคัญที่จะบังคับให้นักการเมืองท้องถิ่น ต้องมีวินัยการใช้เงินและความรับผิดชอบ (accountable) ต่อประชาชนผู้เสียภาษี เพราะถ้าขืนถลุงเงิน เช่น เดินทางไปดูงานต่างประเทศ หรือดูงานในประเทศแฝงการเที่ยวโสเภณีเด็ก ก็จะ ไม่ได้รับเลือกตั้งอีก

แต่น่าเสียดายว่ารัฐบาลกลับใจอ่อน ยอมผ่อนตามกระแสการวิ่งเต้นของคนชั้นกลางบางกลุ่ม โดยเฉพาะนักธุรกิจ ข้าราชการ และคนในเครื่องแบบบางกลุ่มที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล มาตรา 43 ในร่างกฎหมายฯจึงกำหนดให้ยกเว้นไม่จัดเก็บภาษีจากผู้ที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยส่วนที่มีมูลค่าไม่เกินห้าสิบล้านบาท

ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (หรือ อปท. ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล อบต. กทม. เมืองพัทยา หรือ อปท.อื่น ยกเว้นองค์การบริหารส่วนจังหวัด) มีพันธกิจหรืออำนาจหน้าที่จัด บริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นถึง 31
กิจกรรมสำคัญๆ เช่น การบำรุงรักษาทางบก ทางนํ้า บริการด้านสาธารณูปโภค/สาธารณูปการ การจัดการศึกษาและฝึกอาชีพ สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว สาธารณสุข บำรุงศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและประชาธิปไตย ฯลฯ

แต่ อปท. กลับไม่มีรายได้เพียงพอที่จะให้บริการแก่ประชาชน จึงต้องพึ่งงบประมาณจากรัฐบาลกลางเป็นหลัก ในปี 2559 อปท. มีรายได้ของตนเอง เพียง 70,000 ล้านบาท หรือ 10.7% ของรายได้ทั้งหมดของท้องถิ่น

การยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทจะทำให้รายได้ส่วนนี้ของ อปท. ส่วนใหญ่ ลดฮวบลง โดยเฉพาะ อปท.เกือบทั้งหมดในชนบทจะไม่มีรายได้ภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเลย ทำให้ไม่มีงบที่จะใช้ในการจัดบริการสาธารณะ สาเหตุเพราะนอกจากเกษตรกรส่วนใหญ่จะมีที่ดินเกษตรถือครองเฉลี่ยเพียง 20 ไร่แล้ว ราคาประเมินยังค่อนข้างตํ่า ตัวอย่างเช่น ในอำเภอเมืองนครปฐม ที่ดินเกษตรมีราคาประเมินเพียงไร่ละ 8 แสน-2 ล้านบาท ถ้าราคาประเมินเท่ากับ 1 ล้านบาทต่อไร่ ครัวเรือนเกษตรที่จะเสียภาษีที่ดิน ต้องมีที่ดินไม่ตํ่ากว่า 50-62 ไร่ ซึ่งมีจำนวนน้อยมากในชนบท ยกเว้นคนที่มีธุรกิจบ่อดินที่จะมีที่ดินจำนวนนับ 100 ไร่ หรือโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น อปท. ที่จะมีรายได้เพียงพอหรือเพิ่มขึ้นต้องเป็นเขตเทศบาล กรุงเทพมหานคร หรือพัทยาเท่านั้น

[caption id="attachment_211499" align="aligncenter" width="503"] ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร[/caption]

น่าเสียดายว่ามหาดไทยไม่มีสถิติจำนวนบุคคลที่มีที่ดินและบ้านมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท แต่การประมาณการจากสถิติของสำนักงานสถิติฯพบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศที่มีที่ดินมูลค่าตั้งแต่ 50 ล้านบาท มีเพียง 15,700 ครัวเรือน (จาก 21.3 ล้านครัวเรือน) และครัวเรือนที่บ้านมีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท มีเพียง 5,000 ครัวเรือน นั่นหมายความว่าครัวเรือนกว่า 99% ไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฉะนั้นกฎหมายภาษีที่ดินฯฉบับนี้ก็แทบไม่มีประโยชน์

ครัวเรือนทั่วประเทศที่มีที่ดินมูลค่าตั้งแต่ 50 ล้านบาท มีเพียง 15,700 ครัวเรือน (จาก 21.3 ล้านครัวเรือน) และครัว เรือนที่บ้านมีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท มีเพียง 5,000 ครัวเรือน นั่นหมายความว่าครัวเรือนกว่า 99% ไม่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฉะนั้นกฎหมายภาษีที่ดินฯฉบับนี้ก็แทบไม่มีประโยชน์

เมื่อไม่มีรายได้จากภาษีที่ดิน อปท. ก็ต้องพึ่งเงินที่รัฐบาลแบ่งให้กับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมากขึ้น ในปี 2558 งบประมาณ 2 ก้อนนี้รวมกันเท่ากับ 50.6% ของรายได้ท้องถิ่น การพึ่งเงินจากรัฐบาลส่วนกลางมากขึ้นจะก่อให้เกิดผลกระทบทางลบต่อการพัฒนาท้องถิ่นหลายประการ

ประการแรก อปท. ส่วนใหญ่คงต้องตัดทอนการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนในท้องถิ่น ยกเว้นว่ารัฐบาลกลางจะแบ่งเงินรายได้จำนวนมากขึ้นให้แก่ อปท. แต่การพึ่งงบประมาณจากรัฐบาลกลางมากขึ้น นอกจากจะทำให้ อปท. ไม่อาจกำหนดทิศทางการพัฒนาของตนแล้ว โครงการพัฒนาต่างๆ ยังต้องขึ้นกับข้าราชการในส่วนกลางและนักการเมืองระดับชาติ ซึ่งมิได้เข้าใจความต้องการของประชาชนในแต่ละท้องถิ่น ยิ่งกว่านั้นการพึ่งงบอุดหนุนจากรัฐบาลกลางยังก่อให้เกิดปัญหาทุจริต “เงินทอน” จากนักการเมืองระดับชาติ พูดง่ายๆ คือ นักการเมืองท้องถิ่นที่ต้องการเงินมาพัฒนาพื้นที่ของตนต้องยอมอยู่ในอุปถัมภ์ของพรรครัฐบาล ประชาธิปไตยไทยก็จะยังคงอยู่ในวังวนของการ เมืองอุปถัมภ์ โดยหัวหน้าพรรคการเมืองไม่กี่คน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว