‘ปิโก’ชี้ทางรอดธุรกิจอีเวนต์ เพิ่มบริการใหม่-สร้างแบรนด์ดันรายได้

24 ก.ย. 2560 | 09:50 น.
ปิโก แนะ 2 ทางรอดธุรกิจอีเวนต์บริการด้วยโซลูชัน-สร้างแบรนด์ของตนเองหลังธุรกิจเจอมรสุมตลอด 10ปีที่ผ่านมา หวังปี 61 ตลาด 2 หมื่นล้านเติบโต 10% เล็งเพิ่มบริการใหม่-เพิ่มแบรนด์งานอีเวนต์

ธุรกิจอีเวนต์ ถือเป็นธุรกิจที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์แวดล้อมที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือภัยธรรมชาติเพราะหากเกิดปัญหาต่างๆ ดังกล่าวการจัดงานก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะคงไม่มีผู้ที่จะเดินทางมาร่วมงานโดยหากย้อนกลับไปในช่วง10ปีที่ผ่านมาจะพบว่าประเทศไทยถือว่ามีเหตุการณ์สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอีเวนต์มาอย่างต่อเนื่องทั้งวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551การชุมนุมทางการเมืองปี2553 ปัญหานํ้าท่วมใหญ่ในจังหวัดกรุงเทพฯ ปี 2554 และปี 2556-2557การชุมนุมทางการเมือง เป็นต้น

แม้ว่าตลอดระยะเวลาดังกล่าวประเทศไทยจะประสบปัญหาต่างๆ มากมาย แต่สำหรับบริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจอีเวนต์ยังคงสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องด้วยอัตราเฉลี่ย 10-15% แม้ว่าในบางปีที่อัตราการเติบโตลดลง แต่ผลประกอบการยังคงเป็นบวก

สิ่งสำคัญเป็นเพราะการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และการให้บริการในรูปแบบโซลูชัน ที่มุ่งเน้นการนำเสนอรูปแบบการจัดงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ วิเคราะห์สถานการณ์ทางธุรกิจและนำเสนอเทรนด์ทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้กับลูกค้า มากกว่าการรับบรีฟความต้องการของลูกค้า แล้วนำมาคิดรูปแบบของงาน

นายศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ลูกค้าของบริษัทเริ่มมีความต้องการบริการในรูปแบบโซลูชันตั้งแต่ช่วงปี 2552 ประกอบกับการปรับตัวของบริษัทที่ต้องการสร้างความยั่งยืนในธุรกิจอีเวนต์และบริหารความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ จากภาวะเศรษฐกิจและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะปัญหาภาวะเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อการลดงบประมาณทางการตลาดของกลุ่มลูกค้า

[caption id="attachment_211457" align="aligncenter" width="503"] ศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ศีลชัย เกียรติภาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)[/caption]

สำหรับกลยุทธ์สำคัญที่บริษัทใช้เพื่อกระจายความเสี่ยง และสร้างการเติบโตแบบยั่งยืนนั้นคือการมีธุรกิจหลากหลายทั้งธุรกิจอีเวนต์ ธุรกิจคอนเทนต์และการมีแบรนด์อีเวนต์ของตัวเองนอกจากนี้การทำธุรกิจอีเวนต์ต้องมุ่งบริหารความคาดหวังของลูกค้า เพื่อเป้าหมายธุรกิจอยู่รอดซึ่งจะทำให้ธุรกิจอีเวนต์อยู่รอดด้วยและจะต้องวางแผนการทำงานให้สอดคล้องกับอารมณ์ของคนหมู่มากด้วย

“ปัจจุบันบริษัทไม่ได้ทำเฉพาะอีเวนต์แต่มีธุรกิจคอนเทนต์ทั้งรูปแบบดิจิตอลและมิกซ์ มีเดีย เช่น การผลิตรายการมหิดล ชาแนล รวมถึงการมีอีเวนต์ที่เป็นงานภายใต้แบรนด์ของตนเอง อย่าง เอ็ดดูกา (Educa) ที่จัดต่อเนื่องมาเป็น 10ปีแล้วซึ่งในปัจจุบันที่เป็นยุคของเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตผู้ประกอบการธุรกิจอีเวนต์จึงต้องปรับตัว เพื่อความอยู่รอดได้ ซึ่งมองว่า มี 2 แนวทางสำคัญ คือ1.การนำเสนอบริการที่เป็นรูปแบบโซลูชัน ในการเข้าไปร่วมพัฒนาธุรกิจพร้อมกับลูกค้า ต้องมีความเข้าใจลูกค้า และคู่แข่งของลูกค้าสามารถบอกเทรนด์ได้ 2.การมีแบรนด์อีเวนต์เป็นของตนเอง”

ทั้งนี้บริษัทได้วางเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากแบรนด์ของตนเองให้ได้ 20-30% ภายใน 2-3ปีนับจากนี้ซึ่งจะทำให้ธุรกิจมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องขณะที่ในปีนี้ตั้งเป้าหมายการเติบโตไว้ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาซึ่งมีรายได้กว่า1,400ล้านบาทมีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นภาคเอกชนสัดส่วน50%อาทิค่ายรถยนต์ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และหน่วยงานภาครัฐสัดส่วน50% อาทิมหาวิทยาลัยมหิดล กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นต้น

สำหรับธุรกิจอีเวนต์คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท ในปีนี้น่าจะอยู่ในภาวะทรงตัว คาดว่าในปีหน้าจะเติบโตในอัตรา 10% ส่วนภาพรวมของบริษัทน่าจะเติบโตในอัตราเดียวกันซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการวางแผนเพิ่มบริการใหม่และพัฒนาแบรนด์อีเวนต์ของตนเองเพิ่มเติม เพื่อสร้างการเติบโตและรายได้อย่างยั่งยืน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว