จากเลนส์สู่เรื่องราว บันทึกประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน ตอน 4

24 ก.ย. 2560 | 00:19 น.
MP26-3299-8 เส้นทางการถ่ายภาพของ เยาวชนคนหนึ่งที่ได้มีโอกาส สัมผัสงานที่ยิ่งใหญ่อย่างใกล้ชิดนั้นเรียกได้ว่าเริ่มต้นจากคำว่า “ศูนย์” อย่างแท้จริง การเป็นนักเรียนคนหนึ่งซึ่งไม่เคยสนใจการถ่ายภาพ ไม่รู้จักแม้แต่ว่ากล้องถ่ายภาพที่ช่างภาพและคนทั่วไปถ่ายนั้นมียี่ห้ออะไรบ้าง แบ่งเป็นกล้องประเภทไหน และการถ่ายภาพต้องทำอย่างไรบ้าง การปรับฟังก์ชันต่างๆ ของกล้อง แม้กระทั่งการปรับ ISO Speed shutter ซึ่งมีความสำคัญกับการสร้างภาพในแต่ละขณะแสง หนูก็ไม่มีความรู้อะไรเลย จนกระทั่งได้มีโอกาสไปเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่น และคุณอาได้แนะนำว่าลองถ่ายภาพดูไหม อาให้ยืมกล้อง หนูจึงตัดสินใจลองดูและนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการถ่ายภาพของหนู

MP26-3299-3 หลังจากการจับกล้องถ่ายภาพครั้งแรกก็รู้สึกถึงเสน่ห์ของอุปกรณ์ในมือเล็กๆ ที่สามารถเก็บภาพ ณ ช่วงเวลาขณะหนึ่ง ให้เราย้อนนึกถึงได้แม้เวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม ประกอบกับการได้รู้จักกับคุณครูสุรกานต์ ดะห์ลัน คุณครูที่ปรึกษาชมรมเด็กหลังเลนส์ มาก่อนและทราบมาว่าคุณครูมีชมรมถ่ายภาพในโรงเรียนจึงนำภาพในกล้องที่ถ่ายด้วยตนเองที่ประเทศญี่ปุ่นมาให้คุณครูดู พอคุณครูได้เห็นภาพจึงชักชวนให้หนูเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชมรมเด็กหลังเลนส์

MP26-3299-4 “จากเด็กที่ไม่รู้อะไรเลย เด็กที่ได้ลองจับกล้องเพราะผู้ใหญ่ให้โอกาส จนได้ค้นพบแล้วว่าลึกๆ แล้วสิ่งที่ขาดหายไป สิ่งที่ทำให้รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้ทำคืออะไร ถ้าไม่มีโอกาสในวันนั้น และไม่ได้คว้าโอกาสนั้นเอาไว้ ก็คงไม่มีตัวเราที่รู้สึกว่าเหมือนมีสิ่งที่เติมให้เต็มเช่นในวันนี้”

MP26-3299-1 การเป็นหนึ่งในสมาชิกชมรมเด็กหลังเลนส์ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตอีกอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ เพราะทำให้หนูได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งไม่ได้มีเพียงการได้เรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพ แต่ยังรวมไปถึงการวางตัว มารยาทที่ควรปฏิบัติ อีกทั้งความรับผิดชอบกับงานที่ได้รับมอบหมาย รูปที่ถ่ายออกมานั้นต้องคิดไว้เสมอว่าภาพที่ออกมาต้องเป็นแบบไหน เพื่อที่จะได้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ต่อได้ อาจจะส่งต่อให้กับคนที่อยู่ในภาพนั้นก็ได้ ซึ่งสำหรับเด็กคนหนึ่งถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก รูปบางรูปโดนตำหนิบ้าง มีอีกหลายรูปที่ใช้งานไม่ได้บ้าง การเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการปฏิบัติจริง ออกสนามฝึกฝนฝีมือมากๆ และพร้อมที่จะเรียนรู้เพื่อปรับปรุงตัวทำให้หนูผ่านจุดนั้นมาได้ เกิดความรักและความผูกพันเชื่อมต่อระหว่างสายตา เลนส์กล้อง ตัวกล้อง และทุกครั้งที่มือของหนูกดปุ่มชัตเตอร์มากขึ้น

MP26-3299-2 แต่แล้วก็มาถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตอีกครั้งคือการย้ายโรงเรียน เป็นความเสียใจที่เกิดดังก้องอยู่ภายในว่า “ต่อไปเราคงไม่ได้ทำงานแบบนี้อีกแล้ว” จนเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2560 โอกาสของหนูก็ได้กลับมาอีกครั้ง คุณครูสุรกานต์ได้ชักชวนให้หนูกลับมาทำหน้าที่ช่างภาพอีกครั้งในฐานะของ “ช่างภาพเยาวชนจิตอาสาของกรมศิลปากร” เป็นความรู้สึกที่ดีใจที่สุดและตอบตกลงไปในทันที

MP26-3299-6 การกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของ “งานถ่ายภาพ” ในบรรยากาศคุ้นเคย ทำให้หนูตื่นตัวมาก แม้ว่าจะเริ่มเข้ามาเก็บภาพในงานพระราชพิธีช้ากว่าน้องสมาชิกในชมรมคนอื่นๆ แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคที่จะมาขัดขวาง เพราะหนูได้ตัดสินใจเลือกที่จะทำงานนี้แล้ว ถึงจะมีอุปสรรคมากมายแต่ยังไงหนูก็ต้องทำงานนี้ให้ได้ ความรู้สึกของหนูในการไปถ่ายภาพจึงต่างจากคนอื่นๆ ไม่มากก็น้อย หนูรู้สึกว่าการสร้างนี้มันค่อนข้างรวดเร็วมากๆ เพราะช่วงเวลาที่หนูมานั้นมันห่างกันแค่ไม่กี่อาทิตย์ แต่ภาพที่ได้เห็นคือ มีความคืบหน้าไปอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น การทาสีส่วนของพระเมรุมาศ การปูพื้นด้วยอิฐ หรืองานสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในท้องสนามหลวง

MP26-3299-7 การได้มองเห็นจิตรกรรมและประติมากรรมต่างๆ ด้วยตาของตนเอง ความงดงามที่ปรากฏมาจากความละเอียดและประณีตในทุกกระบวนการ สื่อสารความรู้สึกผ่านปูนปั้นและการเขียนสีซึ่งหลอมรวมหลากหลายปัจจัยเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างลวดลายจากดินแต่ละชิ้นที่ถูกประกอบและปั้นอย่างเบามือ การเลือกใช้พู่กันตามขนาดแปรงที่เหมาะสม การแต้มสีในขนาดที่พอดีกับจังหวะมือที่ลงไปในชิ้นงานแต่ละชิ้น รวมถึงการดูแลอย่างพิถีพิถันจนชิ้นงานเสร็จสมบูรณ์ ระหว่างถ่ายภาพก็เพลิดเพลินกับการจ้องมองเจ้าหน้าที่จากสำนักช่างสิบหมู่ รวมถึงพี่ๆ จิตอาสา ที่ตั้งใจและจดจ่อกับการลงสีเทพยดา ชายผ้านุ่งที่เหมือนกันยังสามารถรังสรรค์สีสันออกมาได้หลากรูปแบบภายใต้กรอบที่กำหนดไว้จากแนวคิดหลัก สายตาที่จับจ้องในแต่ละชิ้น แปรงพู่กันที่ค่อยๆ แต่งแต้มสีอย่างใจเย็นพร้อมกับรอยยิ้ม เหมือนกับภายในห้องแห่งนี้เต็มไปด้วยความสุข เหล่าเทพยดา นางฟ้า สัตว์หิมพานต์ต่างๆ ดูมีชีวิตชีวา พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของทิพยวิมาน ทิพยสถานของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของพวกเราทุกคน

[caption id="attachment_211327" align="aligncenter" width="503"] MP26-3299-5 ภาพและเรื่อง: นางสาวธันย์ชนก ศิรัยนฤมิตร (น้องว่าน) โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร[/caption]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1