คมนาคมเทงบ5 ปี2.3ล้านล.ลุยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน-ลดต้นทุนโลจิสติกส์

21 ก.ย. 2560 | 12:14 น.
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการกล่าวปาฐกถา เรื่อง แผนปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนธุรกิจ 4.0 ว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในระยะ 5 ปีข้างหน้า วงเงินรวม 2,312,360 ล้านบาท จาก 20% ของ GDP แบ่งเป็น 5 แผนงาน ประกอบด้วย 1.การพัฒนาเครือข่ายทางรถไฟระหว่างเมือง วงเงินลงทุน 495,596 ล้านบาท 2.ปรับปรุงบริการโครงข่ายระบบขนส่งสาธารณะ วงเงินลงทุน 773,920 ล้านบาท

kkom

3.เพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมโยงระหว่างฐานการผลิตที่สำคัญในประเทศเพื่อนบ้าน วงเงินลงทุน 567,833 ล้านบาท 4.เพิ่มเครือข่ายการขนส่งทางน้ำ วงเงินลงทุน 119,695 ล้านบาท และ 5.เพิ่มความสามารถในการขนส่งทางอากาศ วงเงินลงทุน 355,316 ล้านบาท ทั้งนี้ ยืนยันว่า หากรัฐบาลออกพันธบัตร ในการลงทุนตามกรอบวงเงินดังกล่าว สามารถดำเนินการได้ และจะไม่กระทบกับวิสัยทางการคลังของประเทศ

สำหรับแผนในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ ตามนโยบายของรัฐบาล นายพิชิต กล่าวว่า ได้ตั้งเป้าลดต้นทุนโลจิสติกส์ให้เหลือ 12% ของ GDP ภายในปี 2564 จากในปัจจุบันอยู่ที่ 14.5% ของ GDP โดยในอนาคตจะเน้นการขนส่งทางรางมากขึ้นจากเดิม 1% ให้เป็น 15-16% เนื่องจากเป็นภาคการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำ หรืออยู่ที่ 0.95 บาท ต่อ 1 กม.ต่อ 1 ตัน เมื่อเทียบกับการขนส่งทางถนนโดยรถบรรทุก 10 ล้อ ที่มีต้นทุนราคาอยู่ที่ 2.12 บาท ต่อ 1 กม. ต่อ 1 ตัน

infa

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะผลักดันให้ใช้การขนส่งทางน้ำมากขึ้น เพราะมีต้นทุนโลจิสติกส์ที่ต่ำที่สุด คือ 0.65 บาท ต่อ 1 กม. ต่อ 1 ตัน ขณะเดียวกัน เตรียมเปิดให้บริการการขนรถบรรทุกสินค้า โดยเรือเฟอร์รี่ ผ่านท่าเรือบางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ไปยังท่าเรือสัตหีบ จ.ชลบุรี โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ การลดต้นทุนและการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระยะ 5 ปีข้างหน้าของไทย วงเงินกว่า 2.3 ล้านล้านบาทนั้น วัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ อาทิ เมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ที่มีประชากรรวมกว่า 600 ล้านคน ซึ่งถือเป็นโอกาสของไทย ที่จะสามารถดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ รวมถึงจะทำให้การส่งออกของไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว