"นพ.เหรียญทอง" ยันไม่หาศัลยแพทย์หัวใจมาทำธุรการให้ผ่านเกณฑ์ผ่าหัวใจ สปสช.

21 ก.ย. 2560 | 11:37 น.
"หมอเหรียญทอง" ยันชัดไม่หาศัลยแพทย์หัวใจมาทำงานธุรการประสาน สปสช. ในเวลาราชการ เพื่อให้ผ่านเกณฑ์หน่วยบริการรับส่งต่อรักษาหัวใจ ชี้เสียของ เสียบุคลากร ย้ำมีศัลยแพทย์หัวใจ 3 คนทำงาน 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว

- 21 ก.ย. 60 - ความคืบหน้ากรณี รพ.มงกุฎวัฒนะไม่ผ่านเกณฑ์มีศัลยแพทย์หัวใจประจำในการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งรักษาโรคหัวใจในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ทั้งที่เป็นหน่วยบริการประจำ จนผู้ป่วยอาจได้รับผลกระทบ ซึ่งจากการประชุมผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสัขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และประธานบอร์ด สปสช. ได้ข้อสรุปที่จะไม่แก้ไขหลักเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียน แต่จะให้เวลา 1 ปีในการปรับตัวนั้น

พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการ รพ.มงกุฎวัฒนะ กล่าวว่า ต้องขอบคุณ นพ.ปิยะสกล แทนประชาชน เพราะคือการช่วยเหลือประชาชนที่อย่างน้อยจะไม่เดือดร้อนไปอีก 1 ปี อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า รพ.มงกุฎวัฒนะมีศัลยแพทย์หัวใจ 3 คน และพร้อมให้การดูแลรักษาคนไข้ 24 ชั่วโมง ผ่าตัดหัวใจคนไข้ทั้งคนไทยและต่างชาติมาตลอด นี่คือระบบเต็มเวลาของ รพ.เอกชน ที่ไม่ได้แยกเป็นเวลาทำงานเหมือนราชการที่จะต้องมีแพทย์เต็มเวลาในวันจันทร์-ศุกร์เท่านั้น จึงยืนยันว่า จากนี้ไปอีก 1 ปี รพ.มงกุฏวัฒนะก็จะไม่จัดหาศัลยแพทย์หัวใจมาเพิ่มเติมเพียงเพื่อทำงานธุรการในเวลาจันทร์-ศุกร์ คอยประสานงานกับ สปสช.ในการรับส่งต่อคนไข้โรคหัวใจแน่นอน ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

"การที่สปสช.ออกเกณฑ์แบบนี้ก็เพื่อให้หน่วยรับส่งต่อด้านหัวใจได้มีศัลยแพทย์หัวใจคอยประสานงานกับ สปสช.ในวันเวลาราชการเท่านั้น เพราะ สปสช.ทำงานแค่จันทร์-ศุกร์ แต่การเจ็บป่วยของคนไข้ไม่ได้เกิดแค่เวลาราชการ เกิดได้ตลอดเวลา ซึ่ง รพ.มงกุฎวัฒนะเป็นหน่วยบริการหลักของระบบบัตรทอง มีคนไข้ใช้สิทธิ์บัตรทองประจำอยู่ที่นี่ เรารักษาทุกโรคและมีศูนย์ประสานงานกับ สปสช.เฉพาะอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเอาศัลยแพทย์มาแปะป้ายตามเกณฑ์ของหน่วยรับส่งต่อของ สปสช.เพื่อทำหน้าที่แค่ประสานงานอีก เพราะเสียของ เสียบุคลากร และฝากถาม สปสช.ว่าหลังครบกำหนด 1 ปีแล้ว รพ.จัดหาศัลยแพทย์หัวใจระดับอาจารย์แพทย์มาทำงานประจำจันทร์-ศุกร์ตามเกณฑ์ของ สปสช. แต่ท่านอายุ 80 ปีแล้วผ่าตัดไม่ไหวแล้ว แบบนี้คือผ่านเกณฑ์หรือไม่ ถ้าผ่านแล้วการเอาชื่อศัลยแพทย์มาแค่แขวนป้ายได้ประโยชน์อะไรกับคนไข้" พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าว

พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวว่า กฎเกณฑ์นี้ไม่ได้มีปัญหา หากใช้กับหน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านหัวใจ ที่จำเป็นต้องมีศัลยแพทย์หัวใจมาทำหน้าที่ประสานงาน เพราะเขาไม่ใช่หน่วยบริการหลักอย่าง รพ.มงกุฎวัฒนะ ที่มีศูนย์ประสานงานเฉพาะ ไม่จำเป็นต้องนำศัลยแพทย์หัวใจที่เรามีอยู่มาทำหน้าที่ตรงนี้ ส่วนหน่วยบริการรับส่งเฉพาะอย่างเดียวอาจจำเป็นต้องมีแบบนั้น เพื่อให้หน่วยบริการรองที่ไม่มีศักยภาพในการรักษาโรคหัวใจสามารถส่งต่อไปหน่วยรับส่งต่อเหล่านั้นได้ แต่ของ รพ.มงกุฎวัฒนะเป็นหน่วยหลักที่สามารถรักษาโรคหัวใจได้เองไม่ต้องส่งต่อ และมีศักยภาพรับส่งต่อจากหน่วยบริการรองอื่นๆ ไม่ควรนำกฎเกณฑ์นี้มาใช้กำหนด อย่างที่ผ่านมา สปสช.เคยออกกฎเกณฑ์แบบนี้ในเรื่องหน่วยรับส่งต่อเฉพาะโรคนิ่วในไต การสลายนิ่ว ต้องมีศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะอย่างน้อย 1 คน ประจำจันทร์-ศุกร์ ซึ่ง รพ.มงกุฎวัฒนะก็มีศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะพร้อมดูแลคนไข้ 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องจัดหา ทำให้เป็นหน่วยบริการส่งต่อเฉพาะโรคนิ่วในไตไม่ได้ คนไข้บัตรทองที่ต้องเข้ารับการสลายนิ่ว รพ.มงกุฎวัฒนะก็ต้องส่งต่อไปที่อื่น เพราะถ้ารักษาที่นี่ สปสช.จะไม่จ่ายค่ารักษา หรือคนที่สามารถจ่ายค่ารักษาพาบาลเองได้ก็ผ่าที่นี่ แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

"แต่กรณีนี้ไม่ได้ออกมาคัดค้านแม้จะไม่ได้เห็นด้วย เพราะการสลายนิ่วไม่ใช่ภาวะความเป็นความตายของคนไข้เหมือนโรคหัวใจ ซึ่งสุดท้ายคนไข้ไปร้อง สปสช. ท้ายที่สุดแพทย์ที่เป็นที่ปรึกษา สปสช.ก็มาขอร้องให้รพ.มงกุฎวัฒนะรับส่งต่อคนไข้สลายนิ่วเหมือนเดิม ผมก็บอกไปว่าคุณสมบัติไม่ครบตามเกณฑ์ที่ สปสช.กำหนด ก็ได้รับการบอกกล่าวว่าให้ทำเหมือนเดิม ไม่ต้องหาศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะมาแขวนป้าย เพราะ รพ.มีศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะและศักยภาพในการสลายนิ่วได้ ก็รักษาคนไข้สลายนิ่วมาจนถึงตอนนี้ แต่คราวนี้เป็นเรื่องโรคหัวใจ ที่เป็นความเป็นความตายของคนไข้ จะมาทำแบบการสลายนิ่วไม่ได้ เมื่อครบ 1 ปี ผมก็ทำอยู่เหมือนเดิมเพราะเรามีศัลยแพทย์หัวใจพร้อมอยู่แล้ว ถึงเวลานั้น สปสช.ก็อาจจะต้องออกมาผ่อนผันไปอีก 1 ปีไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเห็นและเข้าใจได้ว่ากฎเกณฑ์นี้มันแย่แค่ไหนหากนำมาใช้กับหน่วยบริการหลัก และยึดตามหลักความเป็นจริง และคิดได้ว่าคนไข้ไม่ได้ประโยชน์ คิดว่าจะเอาเรื่องเงินมาบีบให้ทำ แต่ผมไม่ทำ เพราะประชาชนเดือดร้อน ผมไม่ได้ทิฐิ แต่เพราะ รพ.มงกุฎวัฒนะมีศัลยแพทย์หัวใจอยู่แล้ว ไม่เอาแพทย์มาทำงานธุรการเด็ดขาด เรื่องนี้ต้องออกมาบอกให้สังคมรับทราบ เพื่อไม่ให้เข้าใจผิดว่า รพ.ใจจืดใจดำไม่ผ่าตัดหัวใจให้คนไข้ แต่มันเป็นเพราะกฎเกณฑ์ของ สปสช.ถามว่า รพ.มงกุฎวัฒนะจะถอนตัวออกจากระบบบัตรทองหรือไม่ ผมถือประชาชนของในหลวงเป็นที่ตั้ง จึงจะไม่ออกและพร้อมรับคนไข้จาก รพ.อื่นๆ ที่ถอนตัวจากบัตรทองมาดูแลให้ด้วย" พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าว ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว