ทางออกนอกตำรา : คลัง-แบงก์ชาติ เปิดหน้าชก‘ลดดอกเบี้ย’

21 ก.ย. 2560 | 12:23 น.

1498632998966 ทางออกนอกตำรา
โดย...บากบั่น บุญเลิศ

คลัง-แบงก์ชาติ เปิดหน้าชก‘ลดดอกเบี้ย’

mSQWlZdCq5b6ZLkm0Iy3cREXRaiGA65p

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ ดูเหมือนว่า คนสังคมไทยจะมีความคิดเห็นออกเป็น 2 ทาง

ฝ่ายการเมือง และนายธนาคารเห็นว่า มีสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มดีขึ้นๆและดีขึ้น

ดีขึ้นถึงขนาดว่า มีการปรับเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศขึ้นมาจากที่ประมาณการไว้เดิม 3.6% มาเป็น 4% เพราะการส่งออกที่โตขึ้นมาพรวดพราด แม้ว่าเงินเฟ้อจะลดลงฮวบฮาบ

ชาวบ้านและนักเศรษฐศาสตร์กลับมองว่า เงินในกระเป๋าเฉาลงๆและเฉาลง คนรวยกระจุกตัว แต่คนจนกระจายไปทั่วทุกหัวระแหง ที่บอกว่าเศรษฐกิจดีทำไมเงินในกระเป๋าโตไม่เท่ากับจีดีพี...

ความคิดเห็นของชาวบ้านแบบนี้กำลังกลายคมหอกปลายดาบมาทิ่มแทงรัฐบาลอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะในโลกของความเห็นทางโซเชียลมีเดียที่ “ปากกระบอกปลายปืนมิสามารถหยุดยั้งให้คนคิดได้”


แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

ในแง่ผู้กำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ ก็ดูเหมือนจะมีความเห็นที่แตกต่างกันเป็น 2 ขั้ว

ขั้วแรก เห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรปรับวิธีคิดวิธีการทำงานใหม่

หลังจากได้ยืนหยัด “การคงดอกเบี้ยนโยบาย”ไว้ในระดับเดิมมากว่า 2 ปี กับอีก 4 เดือน คณะกรรมการนโยบายการเงินใช้วิธีการคงดอกเบี้ยมาแล้ว 18 ครั้ง เพื่อดูแลรักษา 4 ประเด็นใหญ่ที่ ธปท.ยึดเป็นหัวใจในการทำงาน

นั่นคือ...(1) เงินเฟ้อ (2) การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (3) ค่าเงิน (4) เสถียรภาพทางการเงิน

แต่ดูเหมือนว่า ตอนนี้เสถียรภาพของระบบการเงินกำลังคลอนแคลน เพราะค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในภูมิภาคและเป็นอันดับ 2-3 ของโลกไปแล้ว

แถมไทยยังกลายเป็นเป้าหมายของการเก็งกำไร ทั้งจากภายในประเทศและกองทุนจากต่างประเทศ ที่ถาโถมเข้ามาร่วม 1 แสนล้านบาท จากระดับราคาค่าเงิน และดอกเบี้ยที่จูงใจ

1 ขั้วนี้มี “อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์” รมว.คลัง“สมชัย สัจจพงษ์”ปลัดกระทรวงการคลัง ยืนนำเป็นหัวหอก เห็นว่า ถึงเวลาที่ธปท.ต้องลดดอกเบี้ยลงมาได้แล้ว เลิกยืนบนภู ดูหมูกัดกัน ควานหาเครื่องมือลงมาเล่นในตลาดเพื่อกระตุ้นการลงทุน กระตุ้นกำลังซื้อในประเทศได้แล้ว

ขั้วที่ 2 เห็นว่า ธนาคารกลางทำถูกแล้วที่ยืนตรง คงดอกเบี้ยไว้ มิเช่นนั้นอาจทำให้ขยับตัวไม่ทันหากสถานการณ์โลกเปลี่ยนไป

2

ขั้วนี้เห็นพ้องกับ วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.ที่ยืนกรานว่า “พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นในเรื่องนโยบายดอกเบี้ยที่ขอให้ปรับลดลง แต่คนที่แนะนำว่าควรลดดอกเบี้ยเพื่อดูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่า ส่วนหนึ่งเพราะมองว่า นโยบายการเงินควรจะต้องตอบโจทย์ของสภาวะช่วงสั้นๆ แต่จริงๆ เรื่องนโยบายการเงินเป็นเรื่องที่ต้องมองยาว เพราะนโยบายการเงินไม่ใช่นโยบายที่หวังผลให้เกิดขึ้นทันที…

หลักการทำนโยบายการเงิน ต้องมองวัฏจักรเศรษฐกิจและวัฏจักรของภาคการเงิน เพราะว่าการทำนโยบายการเงินเป็นการมองไประยะยาว ต้องให้แน่ใจว่าจะไม่ให้เกิดวัฏจักรที่ขึ้นลงเร็วอันนี้จะเกิดผลกระทบ แต่ต้องทำให้เกิดวัฏจักรที่ยั่งยืนในลักษณะราบรื่น ไม่ขึ้นเร็วลงเร็ว”

3

ส่วนสถานการณ์ที่ “เงินเฟ้อตํ่า” (low inflation) แต่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ดังเช่นในปัจจุบันธปท.ไม่กังวลมากนัก เพราะว่าการที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับตํ่าไม่ได้มีผลทำให้คนชะลอการจับจ่ายใช้สอย

ไม่ว่าจะความเห็นในขั้วไหนจะเห็นว่า “นโยบายดอกเบี้ย” ที่ธปท.ดำเนินการมาและยืนขาแข็งอยู่ที่ระดับ 1.50% กำลังถูกท้าทาย และท้ายที่สุดจะต้องหาวิธีมาจัดการ เพื่อลดแรงกระแทก

ภาพตัดมาในฉากสุดท้าย มีเหตุการณ์ความขัดแย้งทางนโยบายเกิดขึ้น ซึ่งสะท้านไปทั้งวงการการเงินและการคลังของประเทศ แต่ประชาชนไทยส่วนใหญ่ยัง “มองไม่เห็น จับประเด็นไม่ได้”


1505987433180

ฉากแรก อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ออกมาขีดเส้นเหยียบเบรก แผนการของธปท.ที่ขอปรับกรอบเงินเฟ้อในปีนี้ จากกรอบเป้าหมาย 2.5% บวกลบ1.5% (1-4%) โดยยืนยันว่า จะไม่มีการปรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้ออย่างแน่นอน

ก่อนจะสำทับไปว่า อัตราเงินเฟ้อที่ตํ่ามาก สะท้อนว่า เศรษฐกิจยังโตตํ่ากว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น ดังนั้น ธปท.ต้องหาแนวทางว่าจะทำอย่างไร โดยนำนโยบายทางการเงินมาช่วย  ทั้งในเรื่องของดอกเบี้ย การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องการดำเนินการผ่านตลาดการเงิน หรือ การดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นหน้าที่ของธปท.ที่จะต้องไปดำเนินการปฏิบัติให้เหมาะสม

ก่อนที่ปลัดกระทรวงการคลัง จะออกมาขย่มว่า “การลดเป้าหมายนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนสำหรับประเทศไทย ดังนั้นก่อนที่จะลดเป้าหมายนั้น ธปท.ต้องพิจารณาว่าได้นำเครื่องมือที่มีอยู่นำมาใช้แล้วหรือไม่

22

เพราะปัจจุบัน พบว่าอัตราดอกเบี้ยของไทยที่ 1.5% นั้นยังอยู่ในระดับสูง จึงส่งผลให้เกิดเงินไหลเข้ามาเก็งกำไร ทั้งในตลาดพันธบัตร และตลาดตราสารหนี้   60,000-1 แสนล้านบาท จะมาบอกว่า เงินเฟ้อตํ่า และขอปรับกรอบเป้าหมายเพื่อให้เงินเฟ้อยังอยู่ในเป้ามันไม่ได้ มันไม่ใช่วิธีการแก้”

ตรงๆชัดๆ ว่าหน่วยงานหลักที่ใช้เครื่องมือทางการคลังดูแลเศรษฐกิจมาร่วม 2 ปี ยอมหัก ไม่ยอมงอ...

ฉากที่ 2  ปลัดกระทรวงการคลัง ไปโยนระเบิดในงานสัมมนา “ นโยบายการคลัง พลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย ครึ่งปีหลัง 2560” ว่า การดูแลเศรษฐกิจจะต้องดำเนินนโยบายการคลัง และนโยบายการเงินควบคู่ไปด้วยกัน จะใช้เพียงนโยบายการคลัง ด้วยการฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้

นโยบายการเงินในปัจจุบันยังมีทางในการช่วยเศรษฐกิจได้ โดยหากพิจารณาจากอัตราดอกเบี้ยในตลาด ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระดับตํ่ากว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมานาน ในทางทฤษฎีจึงมีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพราะเงินเฟ้ออยู่ในระดับตํ่า และหลุดกรอบเป้าหมายแล้ว ขณะที่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จากเงินที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้น ดังนั้นการลดดอกเบี้ยจะช่วยลดการเก็งกำไรด้วย

11 ประโยคเด็ดที่เรียกเสียงซี้ดซ้าดจากคนในวงการคือ “ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอยู่แล้ว เพราะมีเงินไหลเข้ามาในตลาดตราสารหนี้และตลาดทุนมากกว่า 1 แสนล้านบาท ธปท.จะปล่อยให้เข้ามาแบบนี้ได้อย่างไร ให้เข้ามาสร้างโรงพยาบาลหรือ”

แปลไทยเป็นไทย กระทรวงการคลังกำลังเดินเกมกดดันธนาคารกลางให้ตัดสินใจลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาให้ได้...ปลายทางจะอยู่ตรงไหน 27 กันยายนนี้...รู้ผล...

คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา /  หน้า 6 หนังสือพิมพ์ฐานเศราฐกิจ /ฉบับ 3298 ระหว่างวันที่ 21-23 ก.ย.2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว