มติสนช.รับร่างพ.ร.บ.ล้มละลายไว้พิจารณา

21 ก.ย. 2560 | 12:15 น.
สนช. มีมติ 177 เสียง รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ล้มละลาย ไว้พิจารณา ด้านสมาชิก สนช.แนะ ควรนำความเห็นของประชาชนที่ท้วงติงมาประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาในกฎหมายและเพิ่มเรื่องการปฏิรูปการล้มละลายไปพร้อมกัน

 

-21 ก.ย.60-การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานในการประชุม มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ล้มละลาย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ไว้พิจารณา ด้วยคะแนนเห็นด้วย 177 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 4 เสียง จากผู้เข้าประชุม 181 คน พร้อมตั้งกมธ.วิสามัญพิจารณา 21 คน มาจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) 4 คน สนช. 17 คน กำหนดระยะเวลาแปรญัตติ 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 60 วัน

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรณนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องตรา พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า ด้วยกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตามหมวด 3/1 แห่ง พ.ร.บ.ล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ล้มละลาย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2541 มีบทบัญญัติบางประการที่ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถขอฟื้นฟูกิจการได้ทันต่อสถานะทางด้านการเงินของลูกหนี้ เนื่องจากลูกหนี้ต้องเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวเท่านั้น จึงจะขอฟื้นฟูกิจการได้ รวมทั้งการติดตาม การจัดการและการรวบรวมทรัพย์สินของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพื่อให้ลูกหนี้มีโอกาสฟื้นฟูกิจการได้เร็วขึ้นและจัดให้มีกลไกในการติดตาม จัดการ และรวบรวมทรัพย์สนของลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการคุ้มครองเจ้าหนี้มีประกันอย่างเพียงพอ ซึ่งจะเป็นมาตรการหนึ่งที่เป็นการส่งเสริมและรองรับความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

ขณะความเห็นของ สมาชิก สนช. เห็นด้วยกับหลักการของร่าง พ.ร.บ. แต่มีข้อสังเกตในหลายประเด็น อาทิ การกำหนดให้บุคคลผู้เป็นหนี้ ลูกหนี้ หรือมีทรัพย์สินของลูกหนี้อยู่ในครอบครอง แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลหนี้ หรือทรัพย์สินให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทราบ และกำหนดโทษหากไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งในประเด็นนี้มีปัญหามาในเชิงปฏิบัติ และจากการรับฟังความเห็นประชาชนได้ท้วงติงในเรื่องนี้อย่างมาก จึงควรนำความเห็นรับฟังประชาชนมาประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาในกฎหมายฉบับนี้ด้วย รวมถึงควรเพิ่มเรื่องของการปฏิรูปการล้มละลาย เช่น ลูกหนี้ที่ล้มละลายโดยไม่เจตนา จะได้รับการฟื้นฟูได้อย่างไร พิจารณาเรื่องค่าตอบแทนของหน่วยงานผู้พิทักษ์ทรัพย์ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่มีผู้ชำนาญการให้เกิดความเหมาะสม ศึกษาประเด็นสิทธิในทรัพย์สินและการสืบมรดกอย่างรอบครอบและปรับปรุง และควรเร่งรัดประเด็นการล้มละลายข้ามชาติ ที่อยู่ในความสนใจของภาครัฐและเอกชนให้เป็นจริง แต่ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพันธสัญญา การค้าขาย และการร่วมมือทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศ