รอบรู้การลงทุน | แห่ขายทรัพย์สินเข้า “กองทุน”

24 ก.ย. 2560 | 06:52 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

MP18-3298-C

รอบรู้การลงทุน | ในช่วงนี้ นักลงทุนจะเห็นบริษัทจดทะเบียนดำเนินการ “ขายสินทรัพย์เข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐาน” เพื่อนำเงินไปลงทุนต่อยอดธุรกิจใหม่ รวมถึงการชำระคืนหนี้ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนจนส่งผลกระทบต่อการเติบโตของกำไรต่อหุ้น ซึ่งเป็นวิธีการที่สนับสนุนให้ราค้าหุ้นขยับขึ้นได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริษัทที่อยู่ในธุรกิจที่ต้องการใช้เงินทุนมหาศาล เช่น สื่อสารและโรงไฟฟ้า

ล่าสุด บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ประกาศแผนที่จะขาย หรือ ให้เช่าสิทธิรายได้และสิทธิ์ให้เช่าเสาโทรคมนาคม 3,079 ต้น และระบบใยแก้วนำแสง (FOC) 1.47 ล้านคอร์กิโลเมตร มูลค่า 6.5-7.2 หมื่นล้านบาท ให้กับกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิตอล หรือ DIF ที่ถืออยู่จำนวน 28% ส่งผลให้นักวิเคราะห์ต่างมีมุมมองบวกต่อหุ้น TRUE อาทิ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ฯ แนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 7 บาท แม้ว่า การขายสินทรัพย์ครั้งนี้มีขนาดใหญ่กว่าที่คาดไว้ ที่ 50,000 ล้านบาท และมีโอกาสน้อยลงที่การซื้อขายจะเสร็จสิ้นภายในครึ่งแรกของปี 2561 ก็ตาม



ด้าน บล.หยวนต้าฯ มองว่า การขายสินทรัพย์เข้ากอง DIF รอบใหม่ ช่วยให้ TRUE ได้เงินสดหลังเพิ่มทุน DIF ราว 40,000 ล้านบาท หนุนให้ฐานะการเงินแข็งแกร่ง และสร้างความพร้อมในการประมูลคลื่น 1800 MHz หากราคาประมูลต่ำผิดปกติ และ/หรือ การขยายในธุรกิจอื่น ๆ เพื่อทิ้งห่างเบอร์ 3 คาด TRUE บันทึกกำไรพิเศษ 7,000 ล้านบาท ในปี 2560 และ 2.5 หมื่นล้านบาท ในปี 2561 ทำให้ความกังวลขาดทุนหมดไปในช่วง 2 ปีข้างหน้า

ขณะที่ บล.ทรีนิตี้ฯ คาด TRUE จะมีกำไรจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนในครั้งนี้ จะอยู่ประมาณ 1.27-1.43 บาทต่อหุ้น ยังคงคำแนะนำ “ถือ” ราคาเป้าหมายปี 2560 ที่ 7.28 บาท ระยะสั้นได้แรงหนุนจากผลประกอบการที่จะดีขึ้นในไตรมาส 4 จากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุน

เช่นเดียวกับ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS คาดว่า จะมีความคืบหน้าในการขายทรัพย์สินเข้ากองทุนในไตรมาส 4/2560 ทำให้เกิดแรงกำไรในหุ้น JAS

ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนในเรื่องของระยะเวลาในการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของ บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER ทำให้ราคาหุ้นผันผวน จากเดิมนักลงทุนเก็งกำไรเพราะคาดว่า การขายทรัพย์สินเข้ากองทุนจะแล้วเสร็จทันภายในปี 2560 แต่ดูจะไม่ทัน คงจะต้องเลื่อนไปปีหน้า ผลก็คือ การแบกต้นทุนทางการเงินที่สูง และเงินทุนไม่มาตามนัด อาจจะกระทบต่อแผนการลงทุนในอนาคตได้

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,298 วันที่ 21-23 ก.ย. พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1