เร่งศูนย์ซ่อมอู่ตะเภา กรศ.เปิดแนวทางลงทุนเทียบชั้นระดับโลก

23 ก.ย. 2560 | 10:34 น.
กรศ.เร่งเดินหน้าพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกเปิดแนวทางการลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานขนาดใหญ่ ให้บริการครอบคลุมเกือบทุกกิจการหวังเป็นศูนย์ฯระดับโลกและมีความเป็นเลิศ

จากที่คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบประกาศพื้นที่ 6,500 ไร่ บริเวณสนามบินนานาชาติอู่ตะเภาเป็นเขตส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก

โดยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กรศ.)มีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานได้เห็นชอบให้บรรจุโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO)ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TG เป็นโครงการย่อยภายใต้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็น 1 ใน 4 โครงการหลักที่ต้องเร่งดำเนินงาน

ขณะเดียวกันทางกองทัพเรืออยู่ระหว่างการว่าจ้างที่ปรึกษาในการจัดทำแผนแม่บท สำหรับโครงการสนามบินอู่ตะเภาและโครงการที่เกี่ยวข้อง และมีการกำหนดแผนผังการใช้พื้นที่ในเบื้องต้นแล้ว และได้รับงบประมาณในการออกแบบอาคาร MRO ระยะที่ 1อาคารคลังสินค้าระยะที่ 1 ศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมทหาร ระบบสาธารณูปโภคในสนามบินและทางวิ่งที่2เสร็จเรียบร้อยแล้ว รวมถึงได้มีการศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาเสร็จแล้วเช่นกัน

tp11-3298-4B แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(กรศ.)เปิดเผยกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในการประชุมกรศ.ในวันที่ 20 กันยายน 2560 นี้ ที่ประชุมจะมีการเห็นชอบผลการศึกษาแนวทางการดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา บนพื้นที่570ไร่ให้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานระดับโลก และมีความเป็นเลิศในด้านความรวดเร็ว ราคา และคุณภาพ และพร้อมพัฒนาให้แล้วเสร็จเปิดดำเนินการได้ภายในปี 2565

โดยจะเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงขนาดใหญ่ ของอากาศยานแบบต่างๆ ประกอบด้วยการซ่อมลำตัวอากาศยานการซ่อมโครงสร้างอากาศยานการซ่อมชิ้นส่วนโครงสร้างอากาศยาน การดัดแปลงและการปรับปรุงสภาพอากาศยาน ที่นั่งในอากาศยานอุปกรณ์ที่ติดตั้งในพื้นที่เตรียมอาหารการปรับปรุงอุปกรณ์ภายในลำตัวอากาศยานและระบบสาระบันเทิง การซ่อมห้องโดยสารและห้องขนส่งสัมภาระ โรงซ่อมแบตเตอรี่อากาศยาน การทำความสะอาดอากาศยานการพ่นสี การลอกสี รวมถึงการประดับตกแต่งและทำลวดลายบนอากาศยาน การตรวจสอบโดยใช้เทคโนโลยีไม่ทำลายหรือสร้างความเสียหายต่อชิ้นส่วนหรือโครงสร้างอากาศยานและการสอบเทียบเครื่องมือวัดและสอบเทียบเครื่องวัดประกอบการบิน เป็นต้น

นอกจากนี้จะมีสิ่งปลูกสร้าง อาคาร อุปกรณ์ และสถานที่ที่จะใช้สำหรับโครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานตามกิจกรรมข้างต้นเช่นศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินซึ่งตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ปฏิบัติการซ่อมบำรุง พร้อมติดตั้งระบบและอุปกรณ์การฝึกอบรมตามมาตรฐานสากล Painting Shop เป็นอาคารแยกจาก Smart Hangar สามารถรองรับอากาศยานลำตัวกว้าง1ลำรวมถึงโรงเก็บพัสดุ

อีกทั้งยังมีพื้นที่ส่วนกลางอื่นๆ โดยเบื้องต้นประเมินว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ตํ่ากว่า 2 หมื่นล้านบาทคาดว่าจะมีการลงนามในสัญญาร่วมทุนระหว่างทีจีและบริษัทแอร์บัสฯ และโบอิ้ง ในเดือนมีนาคม 2561

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,298 วันที่ 21 - 23 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1