ประกันสุขภาพคึกรับหักภาษี

21 ก.ย. 2560 | 23:10 น.
ผู้ประกอบการมั่นใจตลาดประกันสุขภาพคึกคัก รับคณะรัฐมนตรีอนุมัตินำเบี้ยประกันสุขภาพหักลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีได้ 15,000 บาท แต่เมื่อรวมกับเบี้ยหลักแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท มีผลย้อนหลัง 1 มกราคม 2560

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการประกันสุขภาพ โดยยกเว้นเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันสุขภาพตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท แต่เมื่อรวมกับการหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตและการฝากเงินที่มีเงื่อนไขประกันชีวิตทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 1 แสนบาททั้งนี้สำหรับเบี้ยประกันสุขภาพที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป

[caption id="attachment_162197" align="aligncenter" width="503"] นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล[/caption]

สำหรับการประกันสุขภาพ หมายถึง 1.การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ 2.การประกันอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล 3.การประกันภัยโรคร้ายแรง และ 4.การประกันภัยการดูแลระยะยาว

สำหรับผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ มาตรการดังกล่าวจะมีผลต่อการจัดเก็บภาษีเป็นจำนวนไม่มาก แต่มาตรการนี้จะมีส่วนช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในด้านสุขภาพได้อีกทางหนึ่งด้วย

[caption id="attachment_210465" align="aligncenter" width="335"] วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง[/caption]

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังได้เห็นชอบในหลักการ ให้ประชาชนที่ซื้อเบี้ยประกันสุขภาพมารวมกับเบี้ยประกันชีวิต สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ เพื่อต้องการลดภาระการจ่ายงบประมาณของประเทศในการรักษาพยาบาลของประชาชนด้วยการให้ประชาชนหันมาทำประกันสุขภาพเองมากขึ้นและยังเป็นการสนับสนุนให้ธุรกิจประกันมีโอกาสเติบโตขึ้นด้วย

นายศุภชัย จงศุภวิศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานประกันกลุ่มและสถาบัน บริษัททิพยประกันชีวิต จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า จะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมประกันรวม เนื่องจากประกันสุขภาพสามารถขายได้ทั้งบริษัทประกันภัยและประกันชีวิต และน่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้เอาประกันด้วย เพราะลูกค้าเดิมๆ ที่ซื้อประกันความเสี่ยงให้กับตัวเอง สามารถนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีได้ด้วย แต่วงเงินที่ได้ 15,000 บาทต่อปีนั้นอาจจะคุ้มครองได้เฉพาะผู้ป่วยใน (ไอพีดี) เท่านั้น แต่หากต้องเพิ่มการเป็นผู้ป่วยนอกด้วย วงเงินเบี้ยประกันอาจจะไม่พอต้องมากกว่า 20,000 บาทต่อปี

“วงเงินเบี้ยประกัน 15,000 บาทต่อปี อาจจะซื้ออะไรไม่ได้นัก เพราะปกติการซื้อประกันสุขภาพ เบี้ยจะสูงอยู่แล้ว แต่ก็เชื่อว่า น่าจะทำให้ตลาดรวมคึกคักขึ้น เพราะสังคมไทยในปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการประกันสุขภาพมากขึ้นอยู่แล้ว”นายศุภชัย กล่าว

ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตปี 2559 คาดว่าจะเติบโตประมาณ 7% หรือมีเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 5.4 แสนล้านบาท ซึ่งชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ทำให้กำลังซื้อในครัวเรือนลดลง
สมาคมประกันชีวิตไทย คาดว่าปี 2560 ธุรกิจประกันชีวิตจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันมีประชาชนถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตเพียง 38% จากประชากรกว่า 65 ล้านคน ขณะที่หลายประเทศในทวีปเอเชีย ทั้ง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ มีอัตราถือครองเกิน 100%

ส่วนเบี้ยประกันประกันสุขภาพในปี 2559 มียอดรวม 61,892 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 14.5% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราการถือครองกรมธรรม์อยู่ที่ 37-38% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งสะท้อนว่าประกันสุขภาพยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,298 วันที่ 21 - 23 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1