ส.อ.ท.เผยความเชื่อมั่นส.ค.ปรับเพิ่มขึ้นในรอบ5เดือน

20 ก.ย. 2560 | 09:11 น.
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ สิงหาคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน และยังมั่นใจต่อเนื่องถึงสิ้นปี จากยอดคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ

แถลงข่าวดัชนี2 นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนสิงหาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 85.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 83.9 ในเดือนกรกฎาคม โดยค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ของผู้ประกอบการปรบตัวดีขึ้น ซึ่งดัชนีดังกล่าวถือเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน
โดยมีปัจจัยบวกจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ สะท้อนจากยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และปริมาณการผลิต ที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ประกอบกับผู้ประกอบการมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น รวมทั้งยังได้รับผลดีจากการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านที่ยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมีแนวโน้มตัดสินใจลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อแสวงหาตลาดใหม่ๆ การลดต้นทุนการผลิตทั้งจากวัตถุดิบและค่าจ้างแรงงาน รวมทั้งเพื่อกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจ ทั้งนี้ ในด้านปัจจัยลบ พบว่าผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการแข็งค่าของเงินบาทซึ่งกระทบต่อรายได้ของผู้ประกอบการส่งออก
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 101.6 ในเดือนกรกฎาคม เนื่องจากผู้ประกอบการคาดว่าจะมีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2560

สำหรับด้านปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการ ในเดือนสิงหาคม 2560 พบว่าปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การเมืองในประเทศ แถลงข่าวดัชนี1

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนสิงหาคม คือ ต้องการให้ภาครัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ ในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 2560 เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายภาครัฐ พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการ SMEs เช่น ปรับลดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาสินเชื่อ การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และวงเงินสินเชื่อที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมให้การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐใช้สินค้าจากผู้ประกอบการSMEs มากขึ้น และออกมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าจากประเทศจีน เช่น เหล็ก และเครื่องจักร เพื่อปกป้องผู้ประกอบการในประเทศ