ชะลอลงทุนโรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส หนีรัฐเก็บค่าสำรองไฟโรงงาน-ผลตอบแทนไม่คุ้ม

23 ก.ย. 2560 | 08:09 น.
เอกชนโวย รัฐเรียกเก็บค่าสำรองไฟฟ้าโรงงาน ที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง ส่งผลให้ความน่าสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่ลดลง ขณะที่กลุ่มโรงงานเอทานอลจากมันสำปะหลัง 3-4 ราย อาจชะลอตัดสินใจลงทุนโรงไฟฟ้าไบโอแก๊ส

นายเดชพนต์ เลิศสุวรรณโรจน์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท อุบลไบโอเอทานอล จำกัด และในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เตรียมจะเรียกเก็บค่าสำรองไฟฟ้า (backup rate) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มใหม่ที่หันมาผลิตไฟฟ้าใช้เอง โดยเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 33 กิโลวัตต์ขึ้นไป ซึ่งบริษัทก็มีการตั้งโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ ขนาดกำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์เพื่อใช้เอง ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าของทั้งกลุ่มบริษัทอยู่ที่ 20 เมกะวัตต์

โดยบริษัทเพิ่งเซ็นสัญญากับการไฟฟ้าฯ และยอมเสียค่า backup rate อยู่ที่ 5 หมื่นบาทต่อเดือน ส่วนตัวมองว่าแม้จะเป็นนโยบายของภาครัฐที่ห่วงเรื่องปริมาณไฟฟ้าในระบบ แต่การเรียกเก็บค่า backup rate จะยิ่งทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีวัตถุดิบเหลือใช้ที่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ชะลอการตัดสินใจสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อใช้เอง ซึ่งที่ผ่านมารัฐส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าใช้เองในโรงงานที่ต้องการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) แต่การเรียกเก็บ backup rate พบว่ามีผู้ประกอบการ 3-4 รายที่เตรียมที่จะลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อใช้เอง ยังชะลอการตัดสินใจลงทุนออกไปก่อน

“ที่ผ่านมารัฐส่งเสริมให้โรงงานที่มีวัตถุดิบเหลือใช้ นำมาผลิตไฟฟ้าใช้เอง แต่การเรียกเก็บ backup rate ทำให้ความน่าสนใจลงทุนโรงไฟฟ้าลดลง ขณะเดียวกันนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่ม SPP Hybird Firm ไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการทุกรายจะสามารถขายไฟฟ้าได้ เพราะมีการจัดแบ่งโควตารายภาค แต่ประเด็นคือสายส่งไฟฟ้ารับได้หรือไม่ ต้องตรวจสอบกับทาง กฟผ. ก่อนว่าสายส่งรับได้หรือไม่” นายเดชพนต์ กล่าว

[caption id="attachment_28071" align="aligncenter" width="363"] ชลัช ชินธรรมมิตร์ ชลัช ชินธรรมมิตร์[/caption]

นายชลัช ลินธรรมมิตร์ กรรมการ บริษัท นํ้าตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือเคเอสแอล เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทมีโรงไฟฟ้าจากกากอ้อย เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้กับบริษัทในกลุ่ม แต่ก็ต้องซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาว่าเข้าข่ายต้องจ่ายค่า backup rate หรือไม่ อย่างไรก็ตามเอกชนกลุ่มโรงงานนํ้าตาลมีแผนขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง การสร้างโรงไฟฟ้าใช้เองบางส่วนสามารถลดภาระการไฟฟ้าฯได้

ดังนั้นการเรียกเก็บค่า backup rate ก็อาจทำให้การลงทุนโรงไฟฟ้าเพื่อใช้เองน้อยลง ซึ่งปัจจุบันภาคเอกชนมีการใช้ไฟฟ้าค่อนข้างมาก ต้องจ่ายค่าไฟสูง จึงต้องการลงทุนเพื่อลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ และเนื่องจากการสร้างโรงไฟฟ้าเป็นการลงทุนใหม่ย่อมต้องมีต้นทุนค่าไฟเพิ่มขึ้น แต่เมื่อรัฐเรียกเก็บ backup rate ก็มีโอกาสที่การตัดสินใจลงทุนในส่วนนี้จะน้อยลง

อนึ่ง กกพ. เตรียมประกาศค่าไฟฟ้าสำรอง (backup rate) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มใหม่ที่หันมาผลิตไฟฟ้าใช้เอง โดยเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่ 33 กิโลวัตต์ขึ้นไป แต่ยังมีความต้องการพึ่งพาระบบไฟฟ้าสำรองจากภาครัฐ ซึ่ง backup rate สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มนี้จะอยู่ในช่วง 52.71-66.45 บาทต่อกิโลวัตต์สำหรับกรณีทั่วไป และช่วง 26.36-33.22 บาทต่อกิโลวัตต์ สำหรับกลุ่มโคเจเนอเรชัน ซึ่งอัตราดังกล่าวเป็นอัตราชั่วคราว คาดประกาศใช้ภายในเดือนกันยายนนี้ และใช้ไปถึงสิ้นปี 2560 หรือจนกว่า กกพ.จะจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่จะแล้วเสร็จในปี 2561

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,298 วันที่ 21 - 23 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1