เอเชียเผชิญปัญหาสังคมผู้สูงวัย คาดประชากรอายุเกิน65ปีทะลุ500ล้านคนใน10ปี

23 ก.ย. 2560 | 12:08 น.
หลายประเทศในเอเชียกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัยและสูญเสียสัดส่วนคนวัยทำงานที่เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยผลวิจัยชี้ว่าภายใน 10 ปีข้างหน้า หรือในปี ค.ศ. 2027 จำนวนประชากรของเอเชียที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเพิ่มจำนวนขึ้นจาก 365 ล้านคนในปัจจุบัน เป็นกว่า 500 ล้านคน

บริษัทวิจัย ดีลอยท์ แอลแอลพี เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในแถบเอเชียซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า “อินเดีย” มีแนวโน้มที่จะก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของภูมิภาคทดแทนบทบาทของจีนและประเทศอื่นๆที่ได้ชื่อว่าเป็น “เสือเศรษฐกิจ” ของเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง ไต้หวัน หรือเกาหลีใต้ ซึ่งล้วนกำลังเผชิญปัญหาการก้าวเข้าสู่สภาวะ “สังคมผู้สูงวัย” ทำให้สัดส่วนของประชากรที่อยู่ในวัยทำงานสร้างรายได้ มีน้อยกว่าประชากรที่อยู่ในกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไปซึ่งเป็นวัยเกษียณจากภารกิจการงาน รายงานเผยว่า ภายในปี 2027 ประชากรกลุ่มวัยนี้ของเอเชียจะเพิ่มจำนวนขึ้นเกินระดับ 500 ล้านคน และภายในปี 2030 เอเชียจะมีประชากรสูงวัยคิดเป็นสัดส่วน 60% ของจำนวนประชากรสูงวัยทั้งหมดทั่วโลก

ทั้งนี้ในส่วนของอินเดียนั้น ปัจจัยที่จะช่วยผลักดันให้มีแนวโน้มก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น หรือเป็น “คลื่นเศรษฐกิจลูกที่ 3” ของเอเชียรองจากญี่ปุ่นและจีนที่เป็นคลื่นลูกแรกและลูกที่ 2 ก็คือ การเพิ่มขึ้นของประชากรในวัยหนุ่มสาวหรือคนวัยทำงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 885 ล้านคนในปัจจุบัน เป็น 1,080 ล้านคนภายในเวลา 20 ปี และจะคงอยู่เหนือระดับดังกล่าวตลอด 50 ปีข้างหน้า

“ในช่วงทศวรรษหน้า การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรหนุ่มสาววัยทำงานมากกว่าครึ่งหนึ่งของภูมิภาคเอเชียจะเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย” อนิศ จักราวาตี นักเศรษฐศาสตร์จากดีลอยท์ อินเดีย ผู้จัดทำรายงานฉบับดังกล่าวระบุ พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พัฒนาการไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในแง่จำนวนประชากรวัยทำงาน แต่อินเดียยังมีสัญญาณเชิงบวกด้านอื่นๆ คือ คนหนุ่มสาวที่ก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานจะมีระดับการศึกษาสูงขึ้นหรือได้รับการฝึกอบรมเพิ่มทักษะมากขึ้น เมื่อเทียบกับคนวัยทำงานรุ่นปัจจุบันของอินเดีย นอกจากนี้ ยังพบว่า มีปัจจัยเสริมอื่นๆ ทางเศรษฐกิจร่วมด้วย เช่น การมีแรงงานสตรีในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น แรงงานมีทักษะมากขึ้น ทั้งยังมีแนวโน้มการทำงานในวัยที่สูงขึ้นด้วย ทั้งหมดนี้เป็นจุดแข็งที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อภาคธุรกิจ

ความได้เปรียบในแง่ดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของอินเดียไปอีกนานหลายทศวรรษ นอกเหนือจากอินเดียแล้ว ประเทศอื่นๆ ในเอเชียที่จะมีจำนวนประชากรวัยทำงานเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นยังได้แก่ อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งมีสัญญาณว่าทั้ง 2 ประเทศน่าจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า ความได้เปรียบที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เป็นหลักประกันที่แน่นอนหรือยั่งยืน เพราะหากภาครัฐไม่มีการวางกรอบหรือกำหนดนโยบายที่ดีที่จะส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน จำนวนประชากรที่ก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้นแต่ไม่มีตำแหน่งงานรองรับ ก็จะกลายเป็นคนตกงาน ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจนำมาซึ่งปัญหาสังคมถึงขั้นจลาจลก็เป็นได้

TP10-3298-A ส่วนประเทศที่กำลังเผชิญแรงกระทบจากปัญหาสังคมผู้สูงวัยมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียนั้น ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไทย และนิวซีแลนด์ สำหรับออสเตรเลียนั้น แม้ปัญหาจะมีมากเช่นกันและไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าญี่ปุ่น ซึ่งเผชิญสภาวะสังคมผู้สูงวัยมานานแล้วหลายทศวรรษ แต่ออสเตรเลียก็มีวิธีทำให้ปัญหาการขาดแคลนประชากรวัยทำงานคลี่คลายหรือเบาบางลงได้ด้วยนโยบายต้อนรับแรงงานต่างด้าว

รายงานของดีลอยท์ยังได้เสนอแนะวิธีการหลีกเลี่ยงผลกระทบจากปรากฏการณ์สังคมผู้สูงวัยของเอเชีย ที่คาดว่าจะมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวนถึง 1,000 ล้านคนในปี 2050 ดังนี้ คือด้วยการเพิ่มอายุของคนวัยเกษียณ ส่งเสริมให้สตรีเข้าสู่ตลาดแรงงานได้มากขึ้น ยืดหยุ่นกฎระเบียบเพื่อเปิดรับแรงงานต่างด้าวมากขึ้น และเพิ่มประสิทธิผลการทำงาน-ยกระดับคุณภาพการผลิตผ่านมาตรการส่งเสริมด้านการศึกษา การฝึกอบรม และนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาช่วยในการทำงาน เป็นต้น

นอกจากนี้ รายงานยังระบุถึงการแสวงหาข้อดีหรือโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่เปิดกว้างขึ้นและมาพร้อมกับสังคมผู้สูงวัย ยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีประชากรผู้สูงวัยจำนวนมาก เปิช่องทางให้กับธุรกิจประเภทต่างๆ อาทิ การฝึกอบรมพยาบาลหรือผู้ดูแลผู้สูงวัย ธุรกิจบ้านพักคนชรา ศูนย์สุขภาพเพื่อผู้สูงวัย ธุรกิจเครื่องใช้อุโภคบริโภคสำหรับผู้สูงวัย รวมทั้งธุรกิจประกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,298 วันที่ 21 - 23 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1