วิกฤติโรฮิงยา : เสียงเงียบจากมหาอำนาจ?

20 ก.ย. 2560 | 12:50 น.
TP7-3298-3B ความรุนแรงในวิกฤติที่รัฐยะไข่ของเมียนมา กำลังดำเนินไปท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ หลายคนถึงกับบอกว่าเป็นการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ชาวโรฮิงยาโดยเมียนมาไปแล้ว ขณะที่ผู้นำของเมียนมาอย่างนางอองซานซูจี ซึ่งเธอเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ กลับทำตัวได้น่าผิดหวัง ที่ไม่ออกมาปกป้องชาวโรฮิงยา

 

แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมานั้น จะมีองค์กรระดับโลกด้านสิทธิมนุษยชน และสหภาพยุโรป ออกมาประณามเมียนมาต่อการขับไล่และเข่นฆ่าชาวโรฮิงยาอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ทว่าในท้ายที่สุด บรรดาชาติมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น หรือรัสเซีย ก็ไม่สามารถผลักดันหรือใช้มาตรการใดๆให้เมียนมาหยุดการกระทำรุนแรงต่อชาวโรฮิงยา

 
ประเด็นนี้น่าสนใจครับ ส่วนหนึ่งนักวิเคราะห์มองว่า เป็นเพราะเมียนมา ถือเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นมากที่สุดใน กลุ่มประเทศเศรษฐกิจชายขอบ หรือ Frontier Market โดยเมื่อปีที่แล้ว เมียนมาดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และตามข้อมูลของธนาคารโลก ก็บอกว่า เมียนมามีศักยภาพที่จะเติบโตได้ปีละเฉลี่ย 7.1% เลยทีเดียว

 

เมียนมากำลังกลายเป็นดาวเด่นในด้านเศรษฐกิจด้วยความที่เป็นประเทศที่เพิ่งเปิดใหม่ และมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ทั้งก๊าซธรรมชาติ นํ้ามัน แร่ลํ้าค่า รวมทั้งป่าไม้ เป็นโอกาสทางธุรกิจ ของยุโรป สหรัฐฯ จีน เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น รวมถึงไทยด้วยครับ

TP10-3298-B และนั่นอาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้บรรดาชาติมหาอำนาจเหล่านี้ ยังคงสงวนท่าทีต่อสถานการณ์โรฮิงยา ขณะที่จีนเองนั้น ก็ออกตัวชัดเจนถึงการให้ความสนับสนุนรัฐบาลเมียนมาด้วยซํ้า

 

ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ชาติมหาอำนาจตะวันตก อาจจะตกอยู่ภายใต้สภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก โดยเฉพาะวิกฤติของนางอองซาน ซูจี ที่นางถือว่าเป็นกระบอกเสียงด้านสิทธิมนุษยชนของตะวันตกมาหลายทศวรรษ แต่ในวันนี้เธอกลับกลายเป็นผู้สนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษย ชนอันเลวร้ายเสียเอง

 

การแก้ปัญหาชาวโรฮิงยาในวันนี้ จึงเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าเมียนมายังคงยืนกรานที่จะไม่ยอบรับว่า “ชาวโรฮิงยา” คือ พลเมืองของเมียนมา ซึ่งนั่นคือต้นเหตุของปัญหาทั้งหมดทั้งมวล ดังนั้นจึงคาดว่าปัญหานี้จะยังเรื้อรังต่อไป ไม่จบลงง่ายๆ ครับ

 

ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นปัญหาของชาวโรฮิงยา ยังมีความเปราะบางที่จะเปลี่ยนเมียนมา จากการเป็นประเทศดาวเด่นทางเศรษฐกิจ กลับกลายมาเป็นสมรภูมิก่อการร้ายระดับภูมิภาค ด้วยซํ้า

 

ต้องไม่ลืมว่า สถานการณ์ในรัฐยะไข่ นั้นมีความเปราะบางอย่างมากที่กลุ่มก่อการร้ายสากล เช่นกลุ่มไอเอส หรือกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ในปากีสถาน และอัฟกานิสถาน จะเข้าแทรกซึม โดยเฉพาะในเวลานี้ ที่ฐานที่มั่นของไอเอส ถูกตะวันตกถล่มอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง รัฐยะไข่อาจจะเป็นตัวเลือกใหม่สำหรับกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้ ถ้าหากเมียนมายังคงปล่อยให้สถานการณ์มีความเสี่ยงต่อไปเรื่อยๆ

 

มหาอำนาจตะวันตก จึงต้องใช้มาตรการกดดันเมียนมา และนางอองซาน ซูจี เพื่อแก้ปัญหาในรัฐยะไข่ให้มากกว่านี้ ก่อนที่เมียนมาจะถูกเปลี่ยนจากความหวังทางเศรษฐกิจใหม่ กลายเป็นสมรภูมิก่อการร้ายครับ

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,298 วันที่ 21 - 23 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1