‘หวานเป็นลม’

20 ก.ย. 2560 | 23:05 น.
MP35-3298-1A “กินอร่อย คอยวันตาย” อาจารย์พิชัย วาศนาส่ง ปราชญ์หลายๆด้านเคยเขียนไว้ในหนังสือ “ต่วย’ตูน” พ็อกเกตบุ๊กสาระหรรษา คลาสสิกของไทย

แต่คำคมเกี่ยวกับ “อาหาร” ที่อยากนำเสนอในวันนี้คือ “THE LONGER PROCESS, THE SHORTER YOUR LIFE”

“กระบวนการ (ผลิต) ยิ่งยาว อายุ (คนกิน) ยิ่งสั้น”

เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ผมมีโอกาสไปศึกษาต่อขั้นปริญญาโทที่ชิคาโก สหรัฐอเมริกา คุณหมอพี่เขยมอบข้อคิดที่น่าฉงนไว้ให้ “นํ้าเปล่าดีที่สุด” (ในจำนวนเครื่องดื่มทั้งหลาย)

ด้วยความที่ไม่ประสีประสา และยังติดใจใน “รสชาติ” โดยเฉพาะ “ความซาบซ่า” ผมก็ไม่สนใจที่จะดำเนินชีวิต “ดื่มนํ้าเปล่า” ทุกครั้งที่รับประทานอาหาร (โดยเฉพาะนอกบ้าน) ก็มักเรียกหา “เครื่องดื่ม” อร่อยๆ มาประกอบกับการกินอาหาร
กว่าจะมาตระหนักถึงประโยชน์ของ “นํ้าเปล่า” ว่า “ไม่ทำลายสุขภาพของเรา” ก็เมื่อไม่กี่ปีก่อน (ฮา) ... เกือบสายไปแล้ว

มาอเมริกาเที่ยวนี้ ได้อ่าน “ข่าว” สำคัญในหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ THE NEW YORK TIMES (ที่มีคำขวัญน่าเลื่อมใส...“ALL THE NEWS THAT’S FIT TO PRINT” ... พิมพ์แต่ข่าวที่น่าลง)

MP35-3298-2A ร่วมเขียนโดยนักข่าว 2 คน ANDREW JACOBS และ MATT RICHTELL ที่สนใจค้นคว้าเรื่อง “ธุรกิจยักษ์ใหญ่ (วงการอาหาร) ทำอย่างไรให้ประเทศบราซิลติดกับ ‘อาหารขยะ’ (JUNK FOOD)”

เริ่มต้นด้วยความห่วงใยเพราะในประเทศที่กำลังพัฒนาให้ผู้คนได้พ้นอดอยากมีอาหารพอยาไส้ เอาเข้าจริงทำไมเต็มไปด้วย “คนอ้วน” โรคอ้วน นํ้าหนักเกินแม้กระทั่งเด็กเล็ก (ตัวเลขทั่วโลก “คนอ้วนเกิน” มีกว่า 700 ล้านคน)

จากประเทศที่เคยมีพลเมืองยากไร้ อดอยาก ขาดสารอาหาร (MALNUTRITION) กลายมาเป็น “พอมีอันจะกิน” แต่กลับเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และเจ็บป่วยเรื้อรังจาก “ความอ้วน” ความเกินพอดี

มาร้อง “อ๋อ” กันเมื่อเจาะเข้าไปลึกๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบทห่างไกล กองทัพขายอาหาร-ขนมหวานของบริษัทยักษ์ใหญ่วงการอาหารนี่เองเป็นต้นเหตุ เป็นบริษัทใหญ่ระดับโลกทั้งนั้น

เมื่อยอดขายในโลกในประเทศเจริญลดลง จากคนมีการศึกษาที่รู้พิษรู้ภัย “โรคอ้วน” มากขึ้น บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ผู้บริหารคิดถึงยอดขายและเก้าอี้เงินเดือน เงินปันผลแพงเป็นหลัก ก็ต้องหาทางขยาย “ตลาด”

“เหยื่อ” รุ่นใหม่ก็ไม่พ้น “คนด้อยการศึกษา” ในประเทศยากจน (ที่กำลังพัฒนา) ด้วยชื่อเสียง “ความดัง” ในสากล และด้วยงบโฆษณา ประชาสัมพันธ์บวกงบ LOBBY (เจ้าหน้าที่-นักการเมือง) กองทัพนักขายอาหาร-ขนมที่ทำลายสุขภาพ (JUNK FOOD) สามารถแทรกซึมเข้าไปในหมู่บ้าน และ “ชนะใจ” ทำให้ลูกค้า ทั้งคนชรา หนุ่มสาว และทารก ติดใจใน “ผลิตภัณฑ์” ของตนอย่างไม่ยาก

ว่ากันว่า “ระบบอาหารใหม่” (กระบวนการผลิตอาหารใหม่ การจัดจำหน่ายใหม่ และการโฆษณา) ที่กำลังแพร่หลายอยู่ทั่วโลกขณะนี้ ได้ทำลายวัฒนธรรมการกินอาหารท้องถิ่นเดิมๆ และเป็นต้นเหตุสำคัญของ “โรคฮิต” ในหมู่พลเมือง
“คนอ้วน” มีมากกว่า “คนผอมแห้ง” ขาดอาหาร

ที่น่ากลัวคือ จำนวนคนนํ้าหนักเกิน (แต่กลับขาดสารอาหาร) เพิ่มขึ้นในโลกและ “อาหาร” ที่เป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่เป็นความจำเป็นในการดำรงชีวิตกลับมาทำร้าย “ผู้บริโภค”

“THE DIET IS KILLING US”

“ระบบอาหารใหม่” นี้ ได้บุกเข้าไปถึงขบวนการ SUPPLY ต้นนํ้าด้วย โดยจูงใจให้เกษตรกร-ชาวไร่ ชาวนาทิ้งระบบการผลิตดั้งเดิม (พอเพียง) หันมาร่วมมือปลูกพืชผลทำการเกษตร “ป้อน” ธุรกิจยักษ์ใหญ่ไม่ให้ขาด

มีคนออกมาช่วยเถียงว่า “ความอ้วน” “คนอ้วน” ที่เพิ่มขึ้นมาจากหลายสาเหตุ เช่น กรรมพันธุ์ รายได้เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนเป็นผู้อยู่อาศัยในเมือง ฯลฯ

NESTLE บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่ของโลก หนึ่งในจำเลย (สังคม) ร่วมกับบริษัทเครื่องดื่ม ฯลฯ ออกมาชี้แจงว่า บริษัทมีส่วนช่วยในการลดความหิวโหย ให้คุณค่าอาหาร ผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ (หลายๆตัว)ได้พยายามลด เกลือ ไขมัน และนํ้าตาล เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ

ผู้อำนวยการฝ่าย R&D ของ NESTLE ยอมรับว่า การผลิตอาหาร (สมัยใหม่) ที่ราคาถูกลงและแพร่หลายมากขึ้นนั้นมีผลข้างเคียงทำให้เกิดโรคอ้วน แต่ก็ยังอดเสริมไม่ได้ว่า ผู้บริโภคเมื่อรายได้เพิ่มขึ้นก็อด “กิน-ดื่ม” มากขึ้นไม่ได้ (ฮา)
ในความรับผิดชอบต่อส่วนรวม NESTLE รับว่า จะพยายาม EDUCATE ให้ผู้บริโภคตระหนักถึง “สัดส่วน” ที่เหมาะสมในการดื่ม-กิน

หน้าที่ของบริษัทที่หวังดีกับ “ลูกค้า” ตาดำๆ น่าจะอยู่ที่การผลิตและการตลาด “สินค้าอาหาร”ที่สมดุลใน “PLEASURE AND NUTRITION”

“อร่อย” ด้วย มี “คุณค่า” อาหารด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,298 วันที่ 21 - 23 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว