ทำหมัน‘เกรย์มาร์เก็ต’โดนบี้ภาษีแหลก-ปิดช่องทางขายปอร์เช่

20 ก.ย. 2560 | 08:43 น.
แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1
ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระหรือ “เกรย์มาร์เก็ต” นับวันจะล้มหาย ตายไปจากตลาดเมืองไทยหรือที่เหลือรอดก็ดำเนินธุรกิจยากขึ้น จากช่วงก่อนปี 2555 ยอดขายทั้งระบบประมาณ 1.0-1.5 หมื่นคันต่อปี ทว่า 1-2 ปีหลังตัวเลขลดเหลือประมาณ 3-4 พันคัน (จากสมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถใหม่) ขณะที่ขั้นตอนการนำเข้า การตรวจสอบและเสียภาษีเข้มงวดขึ้น แต่อีกทางก็โดนเจ้าของแบรนด์หรือบริษัทผู้ผลิตรถยนต์และผู้นำเข้าและตัวแทนจัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ไล่บี้อย่างหนักทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในยุครุ่งเรือง นอกจากรถยนต์ญี่ปุ่นที่ขายดีแล้ว เมอร์เซเดส-เบนซ์ ถือเป็นแบรนด์ยอดนิยม ที่พอตลาดโลกเปิดตัวโมเดลใหม่ มักถูกเกรย์มาร์เก็ตนำเข้ามาเปิดตัวตัดหน้าบริษัทแม่ทุกครั้ง โดยเฉพาะ “อี-คลาส” และ “ซีแอลเอส” พร้อมออพชันหลากหลายจัดเต็ม แถมทำราคาได้น่าสนใจแม้บริษัทแม่จะเปิดตัวตามมาทีหลัง ก็ยังสามารถแข่งขันได้อย่างสูสี

P17_0712(1)
จนกระทั่งในช่วง 5-6 ปีหลัง บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เริ่มปรับโครงสร้างองค์กร และเปลี่ยนกลยุทธ์ ซึ่งการจัดการกับเกรย์มาร์เก็ตที่คอยตีกินยอดขายถือเป็นประเด็นใหญ่ในโต๊ะประชุม ดังนั้นจึงเห็นมาตรการใหม่ๆ และความกระตือรือร้นของเจ้าพ่อรถหรูเมืองไทย แบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

เริ่มจากแผนปิดช่องทางบริการหลังการขาย โดยปี 2554 เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย ประกาศเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าเพื่อการขอรับประกันคุณภาพสำหรับรถที่ซื้อจากเกรย์มาร์เก็ต และถัดจากนั้นไม่นานก็ประกาศงดการให้บริการรถยนต์ที่ไม่ได้ซื้อจากผู้จำหน่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์อย่างเป็นทางการ

สอดคล้องกับแผนโปรดักต์ใหม่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ประเทศไทย จัดการนำเข้ารถยนต์มาขายอย่างรวดเร็วหลังการเปิดตัวในระดับโลกไม่นาน พร้อมทางเลือกหลากหลายและกดราคาให้ตํ่าลง รวมถึงเพิ่มรุ่นประกอบในประเทศ จนสุดท้าย “เกรย์มาร์เก็ต” ไม่สามารถนำเข้ารถยนต์ตราดาวสามแฉกมาขายได้ ซึ่งรถที่ขายเลี้ยงธุรกิจได้ทุกวันนี้เป็นรถนำเข้าจากญี่ปุ่น และแบรนด์ยุโรปอย่าง“ปอร์เช่”

[caption id="attachment_210096" align="aligncenter" width="503"] ปอร์เช่ พานาเมรา จาก เอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส ผู้นำเข้า และตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ปอร์เช่ พานาเมรา จาก เอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส ผู้นำเข้า และตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ[/caption]

อย่างไรก็ตาม “ปอร์เช่” ซึ่งเป็นรถขายดียี่ห้อหนึ่งของเกรย์มาร์เก็ต กำลังจะเดินตามรอย“เมอร์เซเดส-เบนซ์” หลังจากกรมศุลกากรออกคำสั่งให้ใช้หลักการประเมินราคาใหม่ โดยกรมศุลกากรมีคำสั่งลับที่สุด 0521(ส)/ร 2640 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2560 เรื่องเปลี่ยนแปลงการประเมินราคารถยนต์นำเข้า 4 ยี่ห้อ (ต่างจากคำสั่งเดิม 317/2557)
ในทางปฏิบัติ ผู้นำเข้าจะต้องสำแดงราคาเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษี หรือเรียกว่า “ราคาศุลกากร”แต่ถ้ากรมศุลกากรมีข้อสงสัยก็ให้ใช้หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เพื่อคำนวณหาราคาประเมินที่เหมาะสม โดยคำสั่งเดิม 317/2547 กรมศุลกากรจะหักค่าการตลาดจากราคาขายในเว็บไซต์(เมืองนอก) 43.46% และนำราคานี้ไปใช้เป็นฐานคำนวณภาษี
แต่คำสั่งใหม่ 0521(ส)/ร2640 ที่เน้นไปที่รถยนต์ 4 ยี่ห้อโดย “เฟอร์รารี่” ที่นำเข้าจากอังกฤษให้หักค่าการตลาด 32.01% “มาเซราติ” ที่นำเข้าจากอิตาลี ให้หัก 53.52% และ “ลัมโบร์กินี” นำเข้าจากอิตาลี ให้หัก 27.67% ขณะที่ปอร์เช่ นำเข้าจากอังกฤษ ให้หัก 5.94%

จะเห็นว่าเดิมมีคำสั่งแนะนำให้หักค่าการตลาดในระดับ 43.46% เท่าๆกัน แต่เมื่อคำสั่งใหม่ออกมา“มาเซราติ” ให้หักเพิ่ม 53.52% แต่ปอร์เช่ ให้หักแค่ 5.94% นั่นหมายความว่า ราคาประเมินของรถยนต์ปอร์เช่ที่จะนำมาคูณภาษีนำเข้าย่อมสูงขึ้น

นายชัยยุทธ คำคุณ โฆษกกรมศุลกากร ยืนยันว่า คำสั่ง 0521(ส)/ร2640 เป็นแค่เกณฑ์ในการตรวจสอบราคารถยนต์นำเข้า ซึ่งใครสำแดงอย่างถูกต้องอยู่ก่อนแล้วก็ไม่เดือดร้อนอะไร

[caption id="attachment_162155" align="aligncenter" width="503"] นายสมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส นายสมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส[/caption]

ขณะที่นายสมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส ในฐานะนายกสมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลปกครองระงับคำสั่งการปรับเปลี่ยนวิธีการคำนวณ “ราคาประเมิน” ของรถยนต์นำเข้าสำเร็จรูปใหม่จากยุโรป เพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการและไม่มีระยะเวลาให้ปรับตัว

“กรมศุลกากรไม่มีการแจ้งให้ผู้ประกอบการทราบล่วงหน้า ทำให้รถยนต์ที่นำเข้ามาในช่วงนี้ ต้องเสียภาษีสูงขึ้นกว่าเท่าตัว ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการต้องประสบปัญหาขาดทุน เพราะไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้าได้ เนื่องจากราคาดังกล่าวสูงกว่าที่ได้ตกลงกับลูกค้าไว้ก่อนแล้ว” นายสมศักดิ์กล่าว

ดังนั้นถ้าใช้หลักเกณฑ์ประเมินใหม่สำหรับปอร์เช่ สมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ ยกตัวอย่างว่า รุ่นพานาเมรา อี-ไฮบริด ราคาประเมินเดิม 2.44 ล้านบาท ชำระภาษี 3.17 ล้านบาทแต่เมื่อใช้หลักเกณฑ์ใหม่ ราคาประเมินจะอยู่ที่ 4.85 ล้านบาท ชำระภาษีทั้งสิ้น 5.64 ล้านบาท

P17_0713(1)

ส่วนปอร์เช่ 718 บ็อกซ เตอร์ ราคาประเมินเดิม 1.47 ล้านบาท ชำระภาษี 3.13 ล้านบาท แต่เมื่อใช้หลักเกณฑ์ใหม่ ราคาประเมินจะอยู่ที่ 3.06 ล้านบาท ชำระภาษีทั้งสิ้น 6.53 ล้านบาท

ทั้งนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่เกิดขึ้นก่อน ที่ภาษีสรรพสามิตที่คิดตามราคาขายปลีกจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่16 กันยายน 2560 ขณะเดียวกันรถที่ได้รับผลของการเปลี่ยน แปลงนี้มากที่สุดคือปอร์เช่ ซึ่งเป็นรถยุโรปที่เกรย์มาร์เก็ตยังพอจะมีช่องทางขายได้ แต่จากนี้ไปการนำเข้าคงไม่คล่องแคล่วเหมือนเดิม

ที่สำคัญรุ่นที่เป็นตัวขายของปอร์เช่คือกลุ่มปลั๊ก-อินไฮบริด ซึ่งพานาเมรา โฉมใหม่กำลังทยอยส่งมอบ ตลอดจนเอสยูวีอย่าง“คาเยนน์ โฉมใหม่” จะเริ่มลุยตลาดในปีหน้า อาจจะเป็นการดักไม่ให้รถจากเกรย์มาร์เก็ตได้แจ้งเกิดหรือชิงยอดขายไปก่อนผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการ

เกรย์มาร์เก็ตคงต้องปรับตัวอย่างหนักในการสรรหารถเข้ามาทำตลาด หรือพลิกผันไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องพร้อมใช้ประโยชน์จากศักยภาพ และฐานลูกค้าเดิมที่มีเหลืออยู่ แต่เชื่อว่าจากสถานการณ์ที่โดนบีบรัด ผู้ประกอบการบางรายอาจจะไม่ตาย แต่ก็คงไม่โตมากไปกว่านี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,298 วันที่ 21 - 23 กันยายน พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1