ไปรษณีย์ไทยผวากฏหมายจัดซื้อ บั่นทอนแข่งขัน ชี้อุตฯโลจิสติกส์คู่แข่งเพียบ

23 ก.ย. 2560 | 10:44 น.
[caption id="attachment_88050" align="aligncenter" width="503"] apppost สมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท[/caption]

“ปณท’ยอมรับพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางธุรกิจ ชี้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์คู่แข่งขันเพิ่มมากขึ้น ส่งหนังสือถึงกรมบัญชีกลางขอยกเว้นเชิงพาณิชย์จำนวน 3 โครงการแล้ว ขณะที่ “แคท-ทีโอที” แจงมีผลกระทบเช่นเดียวกัน

นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สำหรับ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่กรมบัญชีกลางภายใต้สังกัดกระทรวงการคลังได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น ขั้นตอนบริหารจัดการมีความยุ่งยากมากขึ้น ต้องกรอกรายละเอียดต่างๆ เพิ่มมากขึ้นส่งไปยังเซิร์ฟเวอร์ของกรมบัญชีกลาง กว่าระบบจะโหลดข้อมูลก็มีความล่าช้า เนื่องจากเป็นเรื่องทางเทคนิค
นอกจากนี้แล้วในงบประมาณปี 2561 ปณทได้งบประมาณ 7,400 ล้านบาท เพื่อลงทุนและขยายธุรกิจ โดยงบลงทุนแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ งบประจำปี และงบแผนการหรือโครงการ เป็นต้น ซึ่งงบประมาณดังกล่าวที่ได้รับมานั้นต้องใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดตาม ระเบียบพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ปณท ได้ส่งหนังสือไปยัง กรมบัญชีกลาง เพื่อขอยกเว้นการจัดซื้อจัดจ้างเชิงพาณิชย์ ตามมาตรา 7(1) ของระเบียบวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งกำหนดให้การจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ไม่ต้องบังคับใช้ตามกฎหมาย จำนวน 3 เรื่อง คือ รถขนส่งไปรษณีย์ ,การซื้อของมาเพื่อขาย เช่น กล่องพัสดุภัณฑ์ และการจัดหาสินค้ามีไว้เพื่อจำหน่ายและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในธุรกิจไปรษณีย์ไทย

tp12-3298-a “ตอนนี้ขั้นตอนทุกอย่างต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ จะเป็นปัญหาเราบริการไม่ได้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจ ไม่มีรถขนส่งให้บริการเพราะถ้า คนมาซื้อกล่อง หรือซองก็ขายไม่ได้ คู่แข่งก็สบายไป ของที่ใช้ในการให้บริการถ้าไม่มีก็เกิดปัญหา เพราะปณทคู่แข่งมากมาย ขยายสาขาเพิ่มก็ยาก เป็นปัญหาต่อการแข่งขัน แก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายบังคับใช้แล้ว การแก้ไข พ.ร.บ.ครั้งนี้เพื่อความโปร่งใสเราเห็นด้วยแต่ไม่สะดวกทำให้เราแข่งขันยาก ลำบาก ในการจัดซื้อจัดหา สิ่งที่จัดซื้อจัดหาเพื่อการทำงานทั้งนั้น เสียโอกาสและคู่แข่งก็ออกตัวเร็วด้วย”

นางสมร ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ผลกระทบของ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ในระยะสั้นยังไม่สามารถประเมินได้ แต่ถ้าเป็นในรูปแบบนี้คู่แข่งได้ส่วนแบ่งรายได้เพิ่ม ถามว่ากระทบไหม ก็กระทบ แม้วันนี้ยังมองไม่เห็น การแข่งขันยังต่อสู้กันได้ แต่ระยะยาวผลที่ตามมาย่อมมีแน่นอน

“รัฐต้องการเน้นความโปร่งใส ยึดหลักธรรมาภิบาล ถ้าให้ความสำคัญตรงนั้นมากจะทำให้ไปรษณีย์ทำธุรกิจไปไม่ได้ ที่สำคัญ พ.ร.บ.ฉบับนี้ทำให้ทุกคนกังวลหมด ทั้งคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง คนเขียนสเปกและ คนที่อนุมัติโครงการก็ต้องโดนตรวจสอบ โดยเฉพาะบทลงโทษ”

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ พ.ร.บ.จะประกาศใช้ปณทได้ติดตามเรื่องดังกล่าวมาตลอด และ ให้ความรู้กับพนักงานเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง เชิญวิทยากรมาบรรยายให้ฟัง ทำอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งทำเวิร์กช็อป หลายรอบทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

[caption id="attachment_186374" align="aligncenter" width="503"] พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท[/caption]

ด้านพ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสทโทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ แคท กล่าวในทำนองเดียวกันว่ามีผลกระทบบ้างโดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้างด้านครุภัณฑ์เนื่องจากว่าขั้นตอนปฏิบัติมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ปฏิบัติเกิดความไม่แน่ใจทำให้โครงการต้องชะลอออกไปก่อนเพื่อความชัดเจน

สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างประเภทให้บริการเพื่อทำธุรกิจไม่มีผลกระทบ เพราะแคทได้ขอยกเว้นบริการเชิงพาณิชย์ในบางโครงการ

[caption id="attachment_208619" align="aligncenter" width="503"] มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)[/caption]

อนึ่งก่อนหน้านี้ นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การประกาศใช้พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 นั้น ทีโอที พร้อมที่จะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และได้ยื่นขอใช้สิทธิตามมาตรา 7(1) ต่อคณะกรรมการนโยบายจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นการดำเนินการปกติตามที่กฎหมายกำหนดไว้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,298 วันที่ 21 - 23 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว