หย่าศึก! “คลัง-ธปท.” แนะหันหน้าคุยจุดยืนดอกเบี้ย ดึงเชื่อมั่นต่างชาติ

21 ก.ย. 2560 | 12:43 น.
นักวิชาการหย่าศึก! “คลังบี้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย” แนะหันหน้าคุย สร้างความเชื่อมั่นต่างชาติเดินหน้าลงทุนอีอีซี ชี้! เงินเฟ้อหลุดกรอบเป็นเรื่องปกติ เหตุราคาน้ำมันและอาหารสดลดต่อเนื่อง

ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา 2 หน่วยงานกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความเห็นที่แตกต่างกันเป็น 2 ขั้ว ในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ว่า ควรจะลด หรือ ไม่ลด

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อ้างความเห็นของนักวิชาการและผู้ประกอบการที่ต้องการให้ ธปท. ลองลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยผ่อนคลายการแข็งค่าของเงินบาทที่แข็งกว่าเพื่อนบ้าน ขณะที่ นายสมชัย สัจจพงศ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เรียกร้องให้ ธปท. ใช้นโยบายการเงิน โดยการลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยโตได้เต็มศักยภาพ

นายสมชัย-สัจจพงษ์

ธปท. โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. 2558 จนถึงปัจจุบัน มีการประชุม กนง. มาแล้ว 18 ครั้ง โดยยึดมั่นใน 4 ประเด็นใหญ่ คือ “เงินเฟ้อ, การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ, ค่าเงิน และเสถียรภาพทางการเงิน” แต่ท่าทีล่าสุดของ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. เปิดกว้างขึ้น พร้อมรับฟังความเห็นทุกฝ่าย แต่เรื่องการลดหรือไม่ลดดอกเบี้ย เป็นสิทธิขาดของคณะกรรมการ กนง. ที่จะประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 27 ก.ย. 2560

การออกมาตอบโต้กันไปมาผ่านสื่อระหว่าง 2 ขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจของประเทศ ย่อมไม่ส่งผลดีต่อภาพลักษณ์เศรษฐกิจ นักวิชาการบางส่วนจึงออกมาเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่าย หันหน้ามาคุยกัน เพื่อหาทางออกร่วมกัน

[caption id="attachment_157124" align="aligncenter" width="500"] นายอมรเทพ จาวะลา นายอมรเทพ จาวะลา[/caption]

นายอมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน สายบริหารความเสี่ยง สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การดีเบตระหว่างกระทรวงการคลังและ ธปท. ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้นครั้งแรก ย้อนไปเมื่อ 4 ปีที่แล้ว นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. ในขณะนั้น ก็มีความเห็นแตกต่างกับกระทรวงการคลัง ในยุคของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในเรื่องของการลดดอกเบี้ย

Appprasan


ผู้ว่าการ ธปท. ในขณะนั้น ยืนหยัดเรื่องเสถียรภาพ ซึ่งถือเป็นปกติของธนาคารกลาง แม้ว่า เหตุการณ์จะคล้ายกับปัจจุบัน คือ เศรษฐกิจฟื้นตัวบางจุด, เงินบาทแข็งค่า และเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรค่อนข้างมาก ประกอบกับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง แต่ กนง. ก็ไม่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

“แม้คลังและ ธปท. จะมอง 2 ทางต่างกัน แต่ในฐานะผู้บริหารนโยบาย จึงถูกทั้งคู่ โดยคลังอยากเห็นเศรษฐกิจเติบโตจากที่เริ่มฟื้นตัว โดยหวังจะให้เกิดความมั่งคั่งและสร้างรายได้ ด้วยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะจะทำให้เกิดการใช้จ่ายและอยากเห็นเศรษฐกิจเร่งตัวขึ้น แต่ฟาก ธปท. ยังห่วงผลข้างเคียงที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพ จึงต้องประเมินสถานการณ์รอบด้านและพยายามจะหาเครื่องมืออื่น นอกจากลดดอกเบี้ยนโยบาย เพราะจะไม่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจแล้ว อาจจะนำไปสู่การเพิ่มฟองสบู่ต่อระบบ”

ส่วนเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มหลุดกรอบ หลังจากที่ผ่านมา อยู่ในระดับต่ำ 2-3 ปีแล้ว เนื่องจากเป็นผลด้านอุปทาน ไม่ว่าอาหารสดหรือราคาน้ำมันไม่ปรับเพิ่ม ขณะที่ กำลังซื้อไม่ถึงกับเหือดหาย เพียงแต่เศรษฐกิจไทยสะท้อนการเติบโตที่ช้า แต่รายได้ของประชาชนไม่ปรับลดหรือเปลี่ยนแปลง แต่ส่วนใหญ่ประชาชนไม่เชื่อมั่นในอนาคตจะมีโอกาสตกงานหรือไม่ เหล่านี้เป็นประเด็นให้คนส่วนใหญ่รัดเข็มขัด

Mp23-3298-A


ในเชิงทฤษฎีเศรษฐกิจมหภาค หากทุกคนออมหรือประหยัดพร้อมกัน แม้รายได้ไม่ลด ภาคส่งออกยังเติบโต รายได้จากการท่องเที่ยวยังมี แต่คนมีรายได้เลือกชำระหนี้ก่อนใช้จ่าย จึงกระทบยอดขาย โดยเฉพาะธุรกิจส่วนตัวและกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่ประจำ

สำหรับวิธีแก้ไขปัญหา เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าเติบโตได้ต่อเนื่อง และมีเสถียรภาพทางการเงิน ทางการต้องให้น้ำหนักสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งมาจากนโยบายการลงทุนภาครัฐ รวมถึงการดึงเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศเข้ามาในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งจะเกิดการหมุนเวียนการลงทุนและการค้า ทำให้คนเชื่อมั่นได้ ไม่ใช่แก้ปัญหาโดยการลดดอกเบี้ยนโยบาย

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องหันหน้าคุยกัน โดยนำข้อมูลพิจารณากันให้ถ้วนทั่ว เช่น หากปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงแล้ว จะช่วยหรือไม่ช่วยค่าเงินและเงินเฟ้อหรือการจับจ่ายใช้สอยอย่างไร

โดยส่วนตัวยังมองคล้ายกับ ธปท. แม้จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง นอกจากไม่ช่วยให้คลังบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวแล้ว แต่กลับจะเพิ่มผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว เนื่องจากไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องพิจารณาร่วมกัน โดยไม่สามารถใช้มาตรการใดมาตรการหนึ่งแก้ไขปัญหาซัพพลายที่ล้น

[caption id="attachment_101459" align="aligncenter" width="336"] ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศา สตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ
อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศา สตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[/caption]

นายอธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เท่าที่ติดตามเชื่อว่า คลังและ ธปท. พูดคุยกันแล้ว เพียงแต่แต่ละฝ่ายต้องพิจารณาถึงสภาพความเป็นจริง โดยหากคลังอยากเห็นเงินบาทไม่แข็งค่า คงต้องให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีส่งออกป้องปันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ต้องสนับสนุนภาคเศรษฐกิจจริง การจะให้ ธปท. ลดดอกเบี้ยนโยบายตอนนี้ ยังไม่ตอบโจทย์ที่จะจูงใจให้เกิดการลงทุน ส่วนหนึ่งอัตราดอกเบี้ยไม่ได้อยู่ในระดับสูง แม้ลดดอกเบี้ยนโยบายผลต่อค่าเงินไม่มากเท่าเศรษฐกิจจริง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,298 วันที่ 21-23 ก.ย. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว