‘รีเซต ป.ป.ช.’ 7กรรมการส่อหลุดเก้าอี้-รอด2

23 กันยายน 2560
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2560 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายในวันถัดไป นับเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูกฉบับแรกในจำนวน 10 ฉบับ ที่ผ่านขั้นตอนกระบวนการนิติบัญญัติจนออกมาเป็นกฎหมาย

ผลของกฎหมายนี้ทำให้กรรมการ กกต. 5 คน พ้นตำแหน่ง หรือ “เซตซีโร่” ไปทั้งคณะ แต่ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อจนกว่า กกต.จากการสรรหาใหม่ 7 คน จะมารับหน้าที่

ถัดมาวันที่ 14 กันยายน 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่างพ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) รอขั้นตอนการประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยร่างกฎหมายนี้ ยืนยันให้ กสม. 7 คน ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เดิม ต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะเมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ แต่ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่ากสม.ชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่
ต่างจากผู้ตรวจการแผ่นดินที่สนช.โหวตในวาระ 3 เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม โดยมีบทเฉพาะกาลให้ผู้ตรวจการแผ่นดินที่เหลือ 2 คนจากที่ให้มี 3 คน ยังคงอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญใหม่ลดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินลง

แม้จะมีสนช.บางส่วนเห็นแย้งเข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งศาลชี้แล้วว่า ไม่ขัดรัฐธรมนูญ ทำให้กรรมการองค์กรอิสระที่เหลือเริ่มมีความหวังว่าจะได้รับการคุ้มครองให้อยู่ต่อจนครบวาระเหมือนผู้ตรวจการบ้าง แต่กรณีของ กสม.ก็ไม่รอด

อันดับถัดไปที่มีลุ้นจะได้นั่งเก้าอี้ต่อจนครบวาระหรือไม่ คือ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่ง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ระบุว่ากรธ.มีกำหนดจะจัดทำร่างพ.ร.บ.ป.ป.ช.ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้
ส่วนการดำรงตำแหน่งของกรรมการป.ป.ช.นั้น ล่าสุดมีท่าทีที่ชัดเจนออกมาจาก กรธ. โดย นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษก กรธ.ระบุว่า จะไม่ “เซตซีโร่” และให้คุณสมบัติเป็นไปตามรัฐธรรมนูญใหม่

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คุณสมบัติของป.ป.ช.ได้กำหนดไว้ในมาตรา 232 ว่า ผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีคุณสมบัติ อย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้

1.รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ตํ่ากว่าอธิบดีผู้พิพากษา อธิบดีศาลปกครองชั้นต้น หรืออธิบดีอัยการมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี 2.รับราชการ หรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ตํ่ากว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

3.เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่น ของรัฐ ที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี 4.ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์

5.เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพ โดยประกอบวิชาชีพอย่างสมํ่าเสมอและต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี 6.เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ด้านการบริหาร การเงินการคลังการบัญชีหรือการบริหารกิจการวิสาหกิจ ระดับไม่ตํ่ากว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจำกัดมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี
ส่วนคุณสมบัติต้องห้ามนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด, เป็นหรือเคยเป็น ส.ส., ส.ว. ข้าราชการการเมือง ระยะ 10 ปี ก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา

จากข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่งผลให้ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน อาจได้รับผลกระทบจากการตีความเรื่องคุณสมบัติ หรือลักษณะต้องห้าม ประกอบด้วย

tp16-3298-a 1.พล.ต.อ.วัชรพล ประสารขราชกิจ ประธานป.ป.ช.เคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เมื่อปี 2557 ติดเงื่อนไขพ้นจากข้าราชการการเมืองไม่ถึง 10 ปี

2.นายปรีชา เลิศกมลมาศ เคยเป็นเลขาธิการ ป.ป.ช. ในปี 2552 ถือเป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ แต่นับเวลาดำรงตำแหน่งจนถึงวันเข้ารับการสรรหาไม่ถึง 5 ปี

3.พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง เคยเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธร 3 เมื่อปี 2548 ก่อนย้ายเป็นจเรตำรวจ เกษียณอายุราชการปี 2555 เทียบเท่าตำแหน่งอธิบดี เมื่อนับเวลาดำรงตำแหน่งจนถึงวันเข้ารับการสรรหาไม่ครบ 5 ปี

4.นายณรงค์ รัฐอมฤต เคยเป็นเลขาธิการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2555 เข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2556 นับเวลา ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 5 ปีเช่นกัน

5.นายวิทยา อาคมพิทักษ์ เคยเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อปี 2557 เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามเนื่องจากเคยเป็นกรรมการองค์กรอิสระ

6.พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ เป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาโหม ถึงปี 2555 ต้องรอตีความว่าเทียบเท่าอธิบดีหรือไม่ และนับเวลาการดำรงตำแหน่งถึงวันรับการสรรหาครบ 5 ปี หรือไม่

7.นางสาวสุภา ปิยะจิตติ เคยเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง ระดับ 10 เทียบเท่าอธิบดี ตั้งแต่ปี 2549-2553 เข้ารับการสรรหาเป็นป.ป.ช.ปี 2557 แต่รัฐธรรมนูญใหม่ระบุว่าต้องรับและเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ตํ่ากว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

ส่วนกรรมการ ป.ป.ช. อีก 2 คน ที่ไม่เข้าข่ายขาดคุณสมบัติ ประกอบด้วย นางสุวณา สุวรรณจูฑะ เป็นอธิบดีกรมคุ้ม ครองสิทธิและเสรีภาพ ตั้งแต่ปี 2549 และได้รับการเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช เมื่อปี 2558 จึงดำรงตำแหน่งไม่ตํ่ากว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการไม่น้อยกว่า 5 ปี

ส่วนอีกคนคือ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร เคยเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ตั้งแต่ปี 2551 ได้รับเสนอชื่อเป็น ป.ป.ช. เมื่อปี 2558 ถือว่าอยู่ดำรงตำแหน่งไม่ตํ่ากว่าอธิบดีมาไม่น้อยกว่า 5 ปี

กรรมการป.ป.ช.ทั้ง 7 คน ใครจะอยู่ ใครจะไป เมื่อร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว คงขึ้นอยู่กับ “กรรมการสรรหา” ที่จะเป็นผู้ชี้ขาดต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,298 วันที่ 21 - 23 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว