แรงงานแจง! ขั้นตอน MOU ไม่ยุ่งยาก เป็นหลักสากล ตรวจสอบได้

19 ก.ย. 2560 | 12:09 น.
กระทรวงแรงงานชี้แจงกรณีความไม่ชัดเจนของมาตรการแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายว่า การนำเข้าแรงงานตาม MOU เป็นระบบที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ เป็นหลักสากล ดำเนินการถูกต้องสามารถตรวจสอบได้ ทราบตัวตน แก้ปัญหาสาธารณสุข และไม่ถูกรีดไถจากกลุ่มมิจฉาชีพ

[caption id="attachment_209851" align="aligncenter" width="503"] นายวรานนท์ ปีติวรรณ นายวรานนท์ ปีติวรรณ[/caption]

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ชี้แจงถึง การนำเข้าแรงงานแบบ MOU ว่าเป็นข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางที่เห็นชอบร่วมกันในการจัดส่งแรงงานเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมาย เป็นหลักมาตรฐานสากล ทำให้ทราบตัวตนของแรงงาน ซึ่งหากเกิดปัญหาสามารถตรวจสอบได้ ทั้งยังแก้ปัญหาด้านสาธารณสุขและป้องกันไม่ให้แรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบอีกด้วย โดยกระทรวงแรงงานได้ปรับลดขั้นตอนลงเพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินการ สำหรับการตรวจสัญชาตินั้น ทางการประเทศต้นทางได้อำนวยความสะดวกในการเข้ามาตรวจสัญชาติแรงงานของตนเองในประเทศไทยโดยเฉพาะทางการเมียนมาได้เปิดศูนย์ตรวจสัญชาติ 8 จังหวัด 9 ศูนย์ ขณะเดียวกันทางการลาวก็เข้ามาตรวจสัญชาติที่กรุงเทพฯ ให้กับกลุ่มที่ถือบัตรสีชมพู ขณะที่ทางการกัมพูชาอยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมเปิดศูนย์ตรวจสัญชาติ 3 แห่งในประเทศไทย ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานได้อำนวยความสะดวกให้กับนายจ้างและแรงงานต่างด้าวในการขออนุญาตทำงาน โดยจัดตั้งศูนย์บริการเพื่อการทำงานของแรงงานต่างด้าวขึ้นที่ศูนย์ตรวจสัญชาติในลักษณะศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้บริการคือสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองตรวจลงตรา (Visa) กระทรวงสาธารณสุขตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ กรมการจัดหางานออกใบอนุญาตทำงาน

มาตรการที่กระทรวงแรงงานกำหนดให้นายจ้างมาแจ้งการทำงานของคนต่างด้าวและคัดกรองความเป็นลูกจ้าง-นายจ้างและสามารถตรวจสัญชาติที่ศูนย์ในประเทศก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นายจ้างที่มีแรงงานผิดกฎหมายอยู่สามารถดำเนินการจ้างให้ถูกต้องต่อไปได้ด้วยความสะดวก รวดเร็ว ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานมีมาตรการชัดเจนคือจะไม่มีการขึ้นทะเบียนรอบใหม่อย่างเด็ดขาด หากแรงงานต่างด้าวประสงค์จะทำงานในประเทศไทยจะต้องเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีเอกสารประจำตัว คือมี หนังสือเดินทางหรือเอกสารรับรองบุคคล ส่วนกรณีที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่ามีการทำ MOU กับแรงงานผิดกฎหมายในประเทศนั้นขอเรียนว่าไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด มีเพียงกรณีทางการลาวขอให้แรงงานที่ผ่านการตรวจสอบคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้างเดินทางกลับประเทศ โดยไปขอหนังสือรับรองการเดินทางได้ที่สถานทูตลาวหรือสถานกงสุลลาวประจำประเทศไทยที่จังหวัดขอนแก่น และเดินทางกลับประเทศแล้วกลับเข้ามาตาม MOU ที่เป็นความประสงค์ของทางการลาวที่จะให้แรงงานกลับประเทศเพื่อไปทำหนังสือเดินทางและกลับเข้ามาตาม MOU ส่วนการกลับเข้ามาทำงานกับนายจ้างรายเดิมนั้น เป็นความต้องการของนายจ้าง-ลูกจ้าง หากแรงงานเดินทางกลับออกไปแล้วไม่ประสงค์จะทำงานกับนายจ้างรายเดิมแต่ประสงค์จะกลับเข้ามากับนายจ้างรายใหม่ก็เป็นสิทธิของแรงงาน ทั้งนี้ นายจ้างต้องแน่ใจว่าแรงงานจะกลับเข้ามาทำงานกับตนเอง

นายวรานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีบุตรของแรงงานต่างด้าวนั้นจะได้รับการตรวจสัญชาติกับทางการประเทศต้นทางด้วย โดยทางการประเทศต้นทางจะออกหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางให้ไว้เป็นหลักฐานและบุตรของแรงงานต่างด้าวจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศตามระยะเวลาที่บิดามารดาได้รับอนุญาตอยู่ในประเทศและทำงาน ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694