เชียร์ลีดเดอร์ ผู้นำทัพ Shopee

22 ก.ย. 2560 | 23:30 น.
ช็อปปิ้งออนไลน์กลายเป็นช่องทางช็อปที่คน อินเทรนด์ไม่มีสิทธิพลาด ด้วยความง่าย ความสะดวก ที่สนองตอบพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ มันตอบโจทย์โดนใจไปซะหมด อย่างแอพพลิเคชัน ช้อปปี้ (Shopee) ผู้ให้บริการช็อปปิ้งออนไลน์ผ่านช่องทางโทรศัพท์มือถือ ที่เปิดให้บริการในไทยเมื่อปลายปี 2558 ปัจจุบันจำนวนผู้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน “ช้อปปี้” เติบโต
ขึ้นอย่างมาก มีผู้ดาวน์โหลดแอพพลิเคชันแล้วกว่า 15 ล้านดาวน์โหลด และไทยถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพในภูมิภาคนี้

การเติบโตของช้อปปี้ แน่นอนว่าผู้นำคนรุ่นใหม่อย่าง “เทอเรนซ์ แพง” มีบทบาทค่อนข้างมาก เขาเป็นคนหนุ่มที่นั่งทั้งตำแหน่งประธานฝ่ายปฏิบัติการช้อปปี้ ใน 7 ประเทศ (ไทย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม) และยังเป็นซีโอโอที่ดูแลการตลาดให้กับช้อปปี้ใน 3 ประเทศ คือ ไทย ไต้หวัน และฟิลิปปินส์

[caption id="attachment_209877" align="aligncenter" width="335"] เทอเรนซ์ แพง เทอเรนซ์ แพง[/caption]

ซีอีโอคนนี้ จบการศึกษาทางด้านบัญชีและการเงิน จากประเทศอังกฤษ และเคยทำงานในธนาคารที่ฮ่องกง และเริ่มเข้าสู่วงการอี-คอมเมิร์ซ เมื่อปี 2555 ซึ่งช่วงนั้นเขาบอกว่าคนที่ช็อปปิ้งออนไลน์ยังช็อปปิ้งผ่านระบบเว็บไซต์ซึ่งเชื่อมต่อจากคอมพิวเตอร์ ตลาดเบสิกมากๆ แตกต่างจากปัจจุบันที่ทุกคนใช้ผ่านมือถือ และคนก็ยังไม่สนใจการซื้อขายในตลาดอี-คอมเมิร์ซ เมื่อเทียบกับตลาดอเมริกา และยุโรป แต่แน่นอนว่า ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโต ซึ่งปัจจุบันตลาดนี้เติบโตเร็วมาก จากเทรนด์มือถือที่มาแรงและยังไม่มีใครที่จับเทรนด์นี้ได้ ช้อปปี้จึงเกิดขึ้นและเปิดให้บริการในปี 2558

“สิ่งที่เราเห็นคือ คนอยากใช้อะไรง่ายๆ อยู่ในที่เดียว อยู่ในแอพเดียวกัน และการหาแบรนด์สินค้าเข้ามามากขึ้น มีวาไรตีเยอะๆ ก็เป็นการตอบโจทย์ลูกค้า 
ถ้าเรามีแอพเดียวรวมทั้งหมด เป็นซิงเกิลแพลตฟอร์ม ก็จะง่ายต่อผู้ซื้อ และการใช้มือถือ ทำให้เราแท็กคุณง่ายขึ้น และสามารถทำ Personalize ให้คุณได้เลย ว่าคุณชอบอะไร ดูอะไร ก็จะออฟเฟอร์ Customize ให้คุณได้เลย”

สิ่งที่ช้อปปี้โฟกัสคือ ลูกค้าต้องการอะไร การเติมฟีเจอร์ใหม่ๆ เข้าไปเพื่อสนองตอบความต้องการของลูกค้า เพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า เช่น การทำแชตฟีเจอร์ หรือการนำ ณเดชน์ และญาญ่า มาเป็นพรีเซนเตอร์ สร้างการรับรู้ในแบรนด์ช้อปปี้ ก็เป็นการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าคนไทยนั่นเอง นั่นคือหลักการที่ “เทอเรนซ์” ใช้ในการบริหารช้อปปี้

MP26-3298-A นอกจากนี้ ในการบริหารองค์กรภายใน “เทอเรนซ์” บอกว่า เขาเรียกตัวเองเป็น “เชียร์ลีดเดอร์” เป็นคนกระตุ้นให้น้องในทีมทำงาน โดยเริ่มต้นตั้งแต่การเลือกคนที่ใช่เข้ามาทำงานในหน้าที่ที่ใช่ แล้วให้แต่ละประเทศเดินหน้ากันเอง เขาเชื่อว่า นี่คือ แนวทางที่จะทำให้ช้อปปี้ในแต่ละประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน เพราะการที่ทำให้ทุกคนอยู่ในที่ที่ถูกต้อง เขาจะทำงานนั้นๆ ออกมาได้ดี และจะได้การบริหารงานที่เหมาะกับในแต่ละประเทศ

คนในองค์กรของช้อปปี้เป็นคนรุ่นใหม่ การที่จะ Empower หรือให้อำนาจในการตัดสินใจการทำงานกับคนเหล่านี้ ต้องดูว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งสิ่งสำคัญคือไม่ไปกดเขา ต้องปล่อยให้คนเหล่านี้วิ่งไปตามที่เขาอยากไป แต่ต้องไปในทิศทางที่ถูก โดยมีผู้นำคอยคอนโทรลอยู่ข้างหลัง เป็นการไกด์ให้มากกว่าไปชี้นำ การทำแบบนี้จะทำให้ทีมงานเกิดความมั่นใจ...“ผู้นำจะไม่ชี้นำ ไม่สั่งให้ทำ การจ้างคนที่ถูกต้อง จะทำให้ผู้นำสามารถขยับไปอยู่ข้างหลังได้ แล้วทำหน้าที่ซัพพอร์ต”

ช้อปปี้เป็นสตาร์ตอัพที่มีวัฒนธรรมที่มีความ Energetic พนักงานมีความรู้สึกเป็นเจ้าขององค์กร ไฟแรง พร้อมลุยงาน สิ่งที่ “เทอเรนซ์” ต้องการให้เกิดขึ้นในอนาคตคือ การเก็บรักษาวัฒนธรรมที่มีความ Energetic แบบนี้ไว้ แม้พนักงานจะเพิ่มจาก 50 คน เป็น 5,000 คน โดยเขายังจัดให้มีการฝึกอบรม การแชร์ประสบการณ์ซึ่งกันและกันทุกอาทิตย์ คุยกันว่าในแต่ละประเทศทำอะไรกันมาบ้าง เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศของตนเองได้

อีกสิ่งหนึ่งที่ “เทอเรนซ์” ให้ความสำคัญคือ การสร้างออฟฟิศให้น่าอยู่ มีบรรยากาศและสถานที่ที่น่าทำงาน ความต้องการของคนยุคนี้คือ ออฟฟิศที่เป็น play & work ที่ทำงานสามารถทำงานได้ และสามารถเล่น พักผ่อนได้ไปพร้อมๆ กัน เพราะฉะนั้น เขาจึงมีกิจกรรมในออฟฟิศต่อเนื่อง มีการเลี้ยงข้าวเย็น และใน 1 เดือน “เทอเรนซ์” จะมีแชร์ให้ทีมงานฟังว่า ช้อปปี้เป็นอย่างไร เกิดอะไรขึ้นบ้าง

MP26-3298-1A ความท้าทายของซีอีโอคนนี้ คือ การเติบโตของช้อปปี้ ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีทีมงานใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาเรื่อยๆ การที่จะบริหารคนเหล่านี้ให้เป็นทีมเดียวกัน รู้จักกัน นั่นคือ ความท้าทายที่เราเติบโตเร็ว คนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำอย่างไรให้คนเก่ากับคนใหม่รู้จักกัน เป็นทีมเดียวกัน นั่นคือ ความท้าทาย

จากการที่ต้องดูแลใน 3 ประเทศ ทำให้ “เทอเรนซ์” ต้องเดินทางอยู่ตลอดเวลา เดือนๆ หนึ่งเขามีเวลาอยู่สิงคโปร์ที่เป็นบ้านเกิดของเขาเพียง 5 วัน แต่เขาก็ยังสนุกที่จะทำงานตรงนี้ เพราะในธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ หรือการ
ซื้อขายออนไลน์ ยังมีอะไรที่ทำได้อีกเยอะมาก

ซีอีโอผู้ประสบความสำเร็จกับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซคนนี้ แนะนำนักลงทุนหรือผู้บริหารหน้าใหม่ว่า การทำธุรกิจ คนส่วนใหญ่มักหมดเวลาไปกับการวางแผน โดยไม่ได้เริ่มทำสักที หรือให้เวลากับการลงมือทำเพียงนิดเดียว ซึ่งเรื่องนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง การเป็นผู้นำ ไม่ใช่มีหน้าที่เพียงแค่วางแผน แต่ต้องลงมือทำไปพร้อมๆ กับทีมงาน มันจึงจะเป็นความร่วมมือร่วมใจของทีมงานที่แท้จริง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,298 วันที่ 21 - 23 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1