เตรียมปรับบทบาทป.ป.ช.จังหวัดใหม่

18 ก.ย. 2560 | 11:11 น.
ประธาน กรธ. เผยเตรียมปรับบทบาท ป.ป.ช.จังหวัด มุ่งเน้นงานประชาสัมพันธ์และขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการทุจริต ส่วนงานสอบสวนคดีทุจริตให้ ป.ป.ช.ภาค ทำหน้าที่แทน พร้อมกำหนดให้ ป.ป.ช.พิจารณาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี

วันนี้ (18 ก.ย. 60) - นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. .... ว่า กรธ. ไม่ได้ยุบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัด แต่ปรับบทบาทให้ ทำงานด้านประชาสัมพันธ์เชิงรุกและขับเคลื่อนมาตรการป้องกันการทุจริตร่วมกับภาคประชาชน ไม่ต้องทำงานด้านการสอบสวนคดีทุจริต เนื่องจากเกรงว่าพนักงานสอบสวนอาจมีการเกื้อหนุนกับผู้ถูกสอบสวนในจังหวัดได้ โดยให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติงานอยู่กับ ป.ป.ช.ภาค แทน เพื่อให้มีกำลังคนเพียงพอในการพิจารณาคดีทุจริต โดย ป.ป.ช.ภาค จะเป็นศูนย์กลางในการสอบคดีทุจริต ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดว่าจะมีกี่ภาค ต้องมีการหารือต่อไป อย่างไรก็ตามภาคประชาชนสามารถมีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายแจ้งเบาะแสการทุจริตให้กับ ป.ป.ช. ได้ โดยไม่ต้องระบุชื่อ แต่จำเป็นต้องมีหลักฐานเพียงพอในการดำเนินการต่อ ขณะเดียวกันยังได้ปรับเปลี่ยนให้พนักงานสอบสวนของ ป.ป.ช. ทำหน้าที่ไต่สวนคดีทุจริตเบื้องต้น โดยไม่จำเป็นต้องมีการตั้งอนุกรรมการ จากนั้นให้ กรรมการ ป.ป.ช.พิจารณาข้อเท็จจริง และกำหนดระยะ org_3287612390

เวลาในการพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ทุกกรณี ทั้งนี้เพื่อให้การพิจารณาคดีทุจริตของ ป.ป.ช.เป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้น นอกจากนี้ กรธ. ได้พิจารณาถึงการกำหนดบทบาทการพิจารณาคดีทุจริตระหว่าง ป.ป.ช. และอัยการ ไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกัน ส่วนกรณีที่มี ป.ป.ช. และอัยการ มีความเห็นไม่ตรงกัน ยังคงให้มีการตั้งกรรมการร่วมกันเหมือนเดิม แต่หากอัยการยืนยันว่า ไม่ฟ้อง ป.ป.ช. ก็ยังสามารถดำเนินการฟ้องเองได้ อย่างไรก็ตาม ทั้ง ป.ป.ช. และ อัยการ ต่างเป็นองค์กรอิสระ ดังนั้น กรธ. จึงเขียนกฎหมายให้มีกลไกปรึกษาหารือกันด้วยเหตุผล แต่หากอัยการ เห็นว่า คดีดังกล่าวยังขาดรายละเอียดข้อเท็จจริง ก็สามารถขอให้ ป.ป.ช. ดำเนินการสอบสวนเพิ่มเติมได้

ต่อข้อถามผู้สื่อข่าวถึง กรณีที่หาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องไปร้องศาลปกครอง แล้วมีคำวินิจฉัยขัดแย้งกัน นายมีชัย กล่าวว่า กระบวนการดังกล่าวทำให้ ป.ป.ช. ต้องทำสำนวนให้แข็งแรงขึ้น เพราะศาลก็สามารถพิจารณาคดีโดยอิสระ ดังนั้น กรธ. จึงบัญญัติให้ ป.ป.ช.เข้าไปเป็นคู่กรณีในการต่อสู้คดีด้วย เพื่อให้มีกลไกในการทำงานให้เกิดความรอบคอบ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ป.ป.ช. มี เนื้อหาสาระค่อนข้างยาก จำเป็นต้องคำนึงถึงเป้าหมายในการปราบการทุจริต แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถให้อำนาจมากเกินไปได้ จึงต้องมีการทบทวนอย่างรอบคอบ