นายกฯชูนวัตกรรมแบบอัจฉริยะ แก้ปัญหารายได้เกษตรกร

18 ก.ย. 2560 | 06:51 น.
นายกฯชูภาคกลางพื้นที่ศักยภาพทรัพยากรน้ำ เตรียมปฎิรูปเกษตรกรไทยด้วยการนำนวัตกรรมแบบอัจฉริยะมาใช้ ตั้งแต่การผลิต แปรรูป และการตลาด

6751_522712

วันนี้ (18 ก.ย. 60) พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปสักการะหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร และพบปะประชาชน ณ บริเวณลานหน้าวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จังหวัดสุพรรณบุรี โอกาสนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแก่ประชาชนที่มารอต้อนรับ โดยสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าภาคกลางเป็นพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพมากสุดในเรื่องทรัพยากรน้ำ แต่ยังคงมีปัญหาในเรื่องเกษตรกรรม ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาในทุกด้านให้แก่เกษตรกรเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมีความสุข มีรายได้ที่เพียงพอ และเกิดความมั่นใจในการดำเนินชีวิตประจำวัน การแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้รัฐบาลได้วางนโยบายใน 3 ระดับ คือต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ต้นทาง คือ การกำหนดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ การส่งเสริมเกษตรกรให้ผลิตข้าวตรงกับความต้องการของตลาด กลางทาง คือ การทำ MOU ระหว่างโรงสีข้าว กลุ่มเกษตรกรนาแปลงใหญ่ เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายข้าวเพิ่มขึ้น ปลายทาง คือ การจัดหาสถานที่จำหน่ายให้กับเกษตรกร ตลอดทั้งจัดหาตลาดสำหรับกลุ่มเกษตรกรและผู้บริโภคได้พบปะซื้อขายกันโดยตรง รวมถึงการติดตามและกำกับดูแลการซื้อขายข้าวเปลือกให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกร
รัฐบาลมีแนวทางการส่งเสริมระบบเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร โดยจัดหาเครื่องมือ เครื่องจักรกลมาช่วยในการผลิต สำหรับระบบบริหารจัดการน้ำ ต้องคิดทั้งระบบ ทุกภาคจะเชื่อมโยงกันอย่างไร ซึ่งขณะนี้รัฐบาลดำเนินการก่อสร้าง/ปรับปรุงแหล่งน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทาน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ประชาชนทุกคนคือผู้กำหนดชะตากรรมของประเทศว่าจะให้ประเทศของเราเติบโตไปในทิศทางใด เราต้องร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนให้ดียิ่งขึ้น รัฐบาลพยายามให้ข้อมูลข่าวสาร การใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนการทำงาน สิ่งนี้คือ Thailand 4.0 เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงและได้รับข้อมูลที่เท่าเทียม รัฐบาลต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพราะสิ่งสำคัญคือการที่ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา และมีหลักคิดที่ถูกต้อง เพื่อสะท้อนความต้องการและสภาพปัญหาที่เจอในชีวิตจริง ซึ่งความเดือดร้อนและปัญหาของประชาชนจะต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง
สำหรับการวางแผนการพัฒนาประเทศให้เป็นระบบ รัฐบาลได้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตลอดจนการน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาสู่การปฏิบัติ ประชาชนไทยโชคดีที่มีพระมหากษัตริย์ มีแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยตั้งเป้าหมายว่าเราจะต้องเป็นประเทศที่ มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน การพัฒนาประเทศต้องเดินไปอย่างมีทิศทาง ต้องมีการกำหนดรูปแบบที่เหมาะสม

ด้านการศึกษา รัฐบาลพยายามเปลี่ยนแปลงทั้งระบบ และพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อให้เกิดความสำเร็จอย่างยั่งยืน ทั่วถึง และเท่าเทียม โดยเฉพาะด้านศึกษาที่จะต้องจัดระบบให้มีคุณภาพและมาตรฐาน นักศึกษา รวมทั้งหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อยกระดับและพัฒนาการศึกษา ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่ากระบวนการศึกษาต้องเริ่มต้นจากในบ้าน และชุมชน

ส่วนปัญหาขยะ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ. 2559 – 2564 และได้มีการดำเนินโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอยทั้งในพื้นที่นำร่องและในระดับชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ปัญหาขยะไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกันของคนในสังคม การร่วมด้วยช่วยกันแบ่งแยกขยะให้ให้ถูกประเภทและถูกพื้นที่ที่เตรียมไว้ ลดการสร้างปริมาณขยะ Reduce/ Reuse และ Recycle

นายกรัฐมนตรีขอให้ประชาชนคิดร่วมกันว่าภาพอนาคตของประเทศไทย ควรมีลักษณะหรือโฉมหน้าอย่างไร เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมแห่งโอกาส เป็นธรรม มีคุณธรรม และเกื้อกูลกัน ความเจริญกระจายสู่ทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง มีการใช้พื้นที่อย่างเหมาะสมตามศักยภาพและเกิดความโดดเด่นของเมืองที่น่าอยู่ เมืองที่แข่งขันได้ เมืองอัจฉริยะ มีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและมิตรประเทศ

สิ่งที่รัฐบาลกำลังดำเนินการในอีกด้านหนึ่ง คือ การปฏิรูปภาคการเกษตรกรไทยภายใต้แนวคิด ไทยแลนด์ 4.0 จะต้องนำนวัตกรรมแบบอัจฉริยะมาใช้ ตั้งแต่การผลิต แปรรูป และการตลาด การใช้ประโยชน์จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบล และศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน ที่มีองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น เกษตรกรต้นแบบ Smart farmer และโครงการ 9101

นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่ารัฐบาลมีเจตนารมณ์ในการลดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม และการสร้างโอกาสเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ ให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ เพื่อให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เศรษฐกิจมีความเจริญเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยรัฐบาลได้วางพื้นฐานตาม Road Map และแนวทางประชารัฐให้ตรงกับความต้องการและปัญหาของประชาชนในพื้นที่ ต้องแก้ปัญหาเดิม และไม่สร้างปัญหาใหม่