5 เหตุกลยุทธ์บริษัท ล้มไม่เป็นท่า

18 ก.ย. 2560 | 06:26 น.
การทำธุรกิจมีล้มก็ต้องมีลุกและหากวางแผนมาดีแล้วทำไมจึงล้ม ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการหลักสูตร เอ็มบีเอออนไลน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า จากช่วงที่เข้าสู่ครึ่งปีหลังของปี 2560 หนึ่งในงานหลักที่ผู้บริหารนิยมทำกัน คือ การวางแผนการดำเนินงานในปีต่อไปหรือถ้าจะเรียกให้ดูเท่ห์ คือ การวางแผนกลยุทธ์ประจำปี สถานที่นิยมไปวางแผนคงไม่พ้น หัวหิน พัทยา และเขาใหญ่ ไม่เห็นมีบริษัทติดต่อไปวางแผนกลยุทธ์ที่เชียงใหม่หรือภูเก็ตบ้างเลย

phusit1

แต่ช่วงหลังสังเกตได้ว่าจะเริ่มมีคำถามจาก CEO ว่าเสียเงินวางแผนทุกปี มีไม่กี่แผนที่ประสบความสำเร็จ แผนที่คุยกันดิบดี ไม่ได้ลงมือทำ สิ่งที่ทำก็ไม่เคยมีระบุอยู่ในแผนเลย เกิดอะไรขึ้นกับการวางแผนปีที่ผ่านมา จะมีเทคนิคอย่างไรให้กลยุทธ์ที่วางไว้ประสบความสำเร็จ ก่อนที่จะตอบคำถามเหล่านี้ เราคงต้องกลับมาวิเคราะห์สาเหตุกันว่า ทำไมบริษัททั้งเล็กและใหญ่ถึงล้มเหลวกับการวางแผนกลยุทธ์

จากประสบการณ์ สรุปได้ว่า มีสาเหตุหลัก 5 ประการที่มักทำให้กลยุทธ์ที่วางไว้อย่างดีกลับล้มไม่เป็นท่า พร้อมแนวทางการแก้ไขเพื่อให้ประสบความสำเร็จ

5 เหตุกลยุทธ์บริษัท ล้มไม่เป็นท่า
1. Project Owner การมีส่วนร่วมของเจ้าของหรือผู้บริหารระดับสูง มีส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้กลยุทธ์ที่วางแผนไว้ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ถ้าผู้บริหารไม่ได้ความสำคัญตั้งแต่เริ่มแรก แนะนำว่าให้เลิกทำไปเลย ไม่ต้องเสียเงินเสียเวลา เอาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปทำในสิ่งที่ผู้บริหารให้ความสำคัญจะดีกว่า เมื่อเจ้าของกิจการยังไม่เอาใจใส่ ใครจะมาสนใจ พนักงานในทีมก็คงมองว่าเป็นกลยุทธ์ลม ที่ไม่จำเป็นต้องทุ่มเทมากนัก ต่างกับแผนกลยุทธ์ที่ผู้บริหารลงมาเล่นเอง ลงมือวางแผนร่วมกับทีมงานเอง เข้าประชุมร่วมทุกครั้ง รวมทั้งติดตามแผนงานอย่างใกล้ชิด เอาแค่นายเดินเข้ามาถามไถ่ความคืบหน้า แค่นี้ความคิดของลูกน้องก็เปลี่ยนไปคนละมุมเลย เขาจะรู้สึกว่าเจ้านายให้ความสำคัญ พนักงานก็จะทุ่มเททำงานมากขึ้นทันที โอกาสความสำเร็จก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย

2. Team No Work นอกจากเจ้าของกิจการแล้ว Teamwork ในการนำแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้แผนที่วางไว้ประสบความสำเร็จ จำนวนสมาชิกมีมากหรือมีน้อยไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพของทีมงาน ถ้าต่างคนต่างทำงานในหน้าที่ที่ตนเองรับผิดชอบ ไม่สนใจภาพใหญ่หรือผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับองค์กร ก็ย่อมมีความขัดแย้งกันระหว่างสมาชิกในทีม หรืออาจเกิดจากพนักงานที่ร่วมวางแผนกลยุทธ์มาตั้งแต่ต้นออกไป ก็ย่อมทำให้เกิดความระส่ำระสายกับการดำเนินกลยุทธ์ไปให้ประสบความสำเร็จตามแผนที่วางไว้ ดังนั้นทุกคนในทีมงานต้องเสียสละ เสนอความคิดเห็น และเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการนำแผนที่วางไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นได้จริง

se1

3. KPIs Blur ถ้าแผนกลยุทธ์ไม่มีการตัวชี้วัดความสำเร็จที่ชัดเจน ทีมงานย่อมไม่รู้สถานะของแผนกลยุทธ์นั้นว่ามีความก้าวหน้ามากน้อยแค่ไหน มีอุปสรรคอะไรเกิดขึ้นระหว่างดำเนินงาน แผนงานต่างๆ มีความล่าช้าไปมากน้อยเพียงใด กว่าจะรู้ตัวอีกที แผนกลยุทธ์ก็ล้มไม่เป็นท่าไปเสียแล้ว นอกจากนั้นแล้ว ทีมงานอาจรู้สึกว่าเมื่อตัวเองทำงานหนักตามแผนที่วางไว้ ก็เกิดความหวังน่าจะประสบความสำเร็จ แต่จริงๆ ผลลัพธ์กลับไม่เป็นดังที่คาดไว้ คนในทีมงานก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ต่างคนต่างทำงานไปคนละทิศคนละทาง ไม่มีจุดมุ่งหมายปลายทาง ดังนั้น KPIs จึงเปรียบเสมือน Milestone ที่มีไว้บ่งชี้ความสำเร็จในแต่ละขั้นตอน เมื่อแผนปฏิบัติงานในแต่ละขั้นตอนประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็ย่อมทำให้แผนกลยุทธ์เกิดขึ้นได้จริงตามที่วางแผนไว้

4. Routine Jobs Overflow พนักงานที่รับผิดชอบแผนกลยุทธ์นั้นมีงานประจำที่ต้องทำมากมาย งานที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงล้นมือ ทำแทบไม่ทัน แค่แก้ปัญหาในแต่ละวันที่ต้องเผชิญ ก็หมดเวลาไปทั้งวันแล้ว ทำให้ไม่มีเวลาเหลือที่จะดำเนินแผนตามกลยุทธ์ที่ได้เคยวางไว้ได้ ถึงแม้ว่าแผนกลยุทธ์ที่ถูกวางไว้ดีเยี่ยมแค่ไหน พนักงานก็แทบจะไม่มีช่องว่างเวลาเหลือที่จะให้ลงมือทำได้ ดังนั้นผู้บริหารต้องสื่อสารว่าแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ก็เหมือนงานประจำที่ต้องรับผิดชอบและถูกประเมินไม่แตกต่างกัน มีกรอบระยะเวลาในการทำให้สำเร็จอย่างชัดเจน เพื่อให้พนักงานรู้จักจัดสรรเวลาในการทำทั้งงานประจำและแผนกลยุทธ์ได้อย่างเหมาะสม

5. Situation Changes กลยุทธ์ที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่มาจากการวางแผนที่ดีเท่านั้น แต่ยังขึ้นกับการลงมือทำอย่างจริงจังและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างชาญฉลาด เพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงย่อมมีความแตกต่างจากสิ่งที่เราคิด สิ่งที่ได้วางแผนกันบนโต๊ะ หลายครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดไว้เกิดขึ้น ทีมงานแก้ไขปัญหาเองไม่ได้ ก็ยอมแพ้ เลิกรากันไป ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่ แต่เมื่อวางแผนกลยุทธ์ใหม่ ก็ลงมือทำไม่ได้เพราะติดปัญหาใหม่ๆ อีก ในที่สุดก็วนเป็น Loop กลายเป็นคิดกลยุทธ์ใหม่ทุกปี ปีละหลายกลยุทธ์ แต่ไม่เคยมีกลยุทธ์ไหนจะสำเร็จสักกลยุทธ์ ดังนั้น ผู้บริหารต้องรู้จักปรับเปลี่ยนแผนกลยุทธ์ที่วางแผนไว้ เป็นกลยุทธ์ที่สามารถใช้ได้จริง (Adjusted Strategies) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วผลักดันให้กลยุทธ์เหล่านั้นประสบความสำเร็จตามแผนที่วางไว้ให้ได้

e-book-1-503x62