ขนส่งทางบกเร่งพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคพลิกโฉมโลจิสติกส์ไทย

17 ก.ย. 2560 | 11:33 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

กรมการขนส่งทางบก ยกระดับมาตรฐานระบบการขนส่งสินค้า พัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค พลิกโฉมโลจิสติกส์ไทย สู่การเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ใน ASEAN

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า กรมการขนส่งทางบก เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งสินค้า และมีแผนในการพัฒนา “สถานีขนส่งสินค้า” เพื่อเพิ่มศักยภาพประเทศไทยในการเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของ ASEAN ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย พ.ศ. 2558-2565 โดยสถานีขนส่งสินค้าแต่ละแห่ง จะทำหน้าที่เป็นจุดรวบรวมและกระจายสินค้า เป็นจุดเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าทางถนน (Node) ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า เชื่อมโยงฐานการผลิตและฐานการส่งออกที่สำคัญ และรองรับการเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสู่ระบบราง ประกอบด้วย

kbb2

แผนพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าในเมืองหลัก 8 แห่ง เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและกระจายสินค้าภายในประเทศอย่างเป็นระบบ รองรับการพัฒนาเส้นทางหลักระหว่างเมืองพร้อมเชื่อมต่อระบบการขนส่งทางรางและการขนส่งรูปแบบอื่น แผนพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าชายแดนอีก 11 แห่ง ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ รองรับพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษและแนวระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาล เชื่อมระบบการขนส่งผ่านแดนสู่ภูมิภาค ASEAN โดยภายในสถานีขนส่งสินค้าแต่ละแห่ง ประกอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าต่างๆ เช่น อาคารรวบรวมและกระจายสินค้า (Distribution Center) คลังสินค้า (Warehouse) ลานกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard) รวมถึงลานเปลี่ยนหัวลาก-หางพ่วง และพื้นที่เขตปลอดอากรสำหรับสถานีขนส่งสินค้าในจังหวัดชายแดน นอกจากนี้ ยังดำเนินการควบคู่กับการยกระดับเพิ่มศักยภาพสถานีขนส่งสินค้าที่ให้บริการแล้ว 3 แห่ง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พุทธมณฑล คลองหลวง และร่มเกล้า) รวมเป็น 22 แห่ง ทั่วประเทศ

kbb

ในส่วนของแผนเปิดให้บริการสถานีขนส่งสินค้าครบทั้ง 19 แห่ง ในปี พ.ศ. 2566 โดยมีการดำเนินการ ดังนี้ โครงการนำร่อง 2 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา และพร้อมเปิดให้บริการในปี 2563 ศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม อยู่ในขั้นตอนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยจะเริ่มก่อสร้างในปี 2562 และเปิดให้บริการในปี 2564 สถานีขนส่งสินค้าจังหวัดชายแดน 9 แห่ง (เชียงราย, ตาก, หนองคาย, มุกดาหาร, สระแก้ว, ตราด, กาญจนบุรี, สงขลา, นราธิวาส) ดำเนินการวางผังและออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ เตรียมการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินในปี 2561

และมีแผนการเปิดให้บริการในปี 2565 สถานีขนส่งสินค้าเมืองหลัก 8 แห่ง (เชียงใหม่, นครสวรรค์, พิษณุโลก, ขอนแก่น, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, สุราษฎร์ธานี) เตรียมการวางผังและออกแบบรายละเอียดในปี 2561 และมีแผนการเปิดให้บริการในปี 2566 โดยกรมการขนส่งทางบกเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนและบริหารจัดการสถานีขนส่งสินค้า ทั้ง 19 แห่ง ในรูปแบบ Public-Private Partnership (PPP) โดยอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน

kbb1

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ระบบการคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถือว่ามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด้านการบริหารจัดการ ทั้งยังมีความพร้อมในการดำเนินการเชื่อมต่อระบบการขนส่งสินค้าทั้งในรูปแบบเดียวกัน (รถบรรทุก-รถบรรทุก) และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (รถบรรทุก-รถไฟ) ที่จะทำให้โครงข่ายการขนส่งสินค้าทั่วประเทศมีการเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อ (Seamless Connectivity) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการขนส่งสินค้า และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนส่ง เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของ ASEAN ทั้งในด้านประสิทธิภาพ คุณภาพ และความมั่นคงปลอดภัย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1