ท้องถิ่นหนุน‘ยุบอบต.’ ลดซํ้าซ้อนจัดสรรงบ-หวังบริการประชาชนเท่าเทียม

18 ก.ย. 2560 | 23:05 น.
ผู้นำท้องถิ่น 83.1% โหวตหนุน “ยุบ อบต.” รวมเป็นเทศบาล ทิ้งห่างผู้ไม่เห็นด้วย 16% ชี้ลดความซํ้าซ้อนในการใช้งบประมาณ บริการประชาชนได้เท่าเทียม บริหารจัดการง่าย ขณะที่ผู้โหวตไม่เห็นด้วย อ้างสภาพพื้นที่แตกต่างกัน หมู่บ้านกระจายตัว ทำให้ดูแลไม่ทั่วถึง

ผู้บริหารท้องถิ่นกว่า 83% เห็นด้วยกับการยุบองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ขนาดเล็ก เพื่อ ควบรวมยกเป็นเทศบาล ซึ่งขณะนี้ อยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล เพื่อออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ในการสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “ย้อนรอย 20 ปี กระจายอำนาจ วันวานยังหวานอยู่ (ไหม?)” จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า เมื่อวันที่ 14 กันยายนที่ผ่านมา ได้เปิดฟังความเห็นจากผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และข้าราชการท้องถิ่น ตลอดจนผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ในประเด็นการขับเคลื่อนการปฏิรูปท้องถิ่นในหัวข้อต่างๆ โดยร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ. ... และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นส่วนหนึ่งในการรับฟังความเห็น และได้จัดสำรวจความเห็นแบบเรียลไทม์ จากผู้เข้าประชุมส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารท้องถิ่นประมาณ 80 คน โดยมี นายศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดำเนินการเสวนา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำ ถามข้อแรกคือ “เห็นด้วยกับการเปลี่ยนสถานภาพองค์การบริหารส่วนตำบล หรืออบต. เป็นเทศบาลตำบลหรือไม่” ผลปรากฏว่า ผู้ร่วมเสวนาเห็นด้วยกับการเปลี่ยนสภาพอบต.ด้วยคะแนนสูงถึง 83.1% ขณะที่มีผู้ไม่เห็นด้วยเพียง 16% หลังเสร็จสิ้นการสำรวจความเห็น ได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมเสวนาให้เหตุผลประกอบการสำรวจด้วย

นายศุภสวัสดิ์ สรุปผลการสำรวจความเห็นว่า ผู้ร่วมเสวนาส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนสถานะอบต.เป็นเทศบาล เพราะเห็นว่าเมื่อเปลี่ยนเป็นเทศบาลจะทำอะไรได้มากขึ้น ทำให้ลดความซํ้าซ้อนในการจัดสรรงบประมาณ การบริการประชาชนทำได้เท่าเทียมกัน รวมทั้งสะดวกในการบริหารจัดการ ขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนสถานะอบต.เป็นเทศบาล เห็นว่าสภาพพื้นที่มีความแตกต่างกัน และหมู่บ้านกระจายตัวกันมาก จะทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง และเห็นว่าการคงสิ่งเดิมที่มีอยู่ก็ดีแล้ว ทั้งบทบาทของผู้บริหาร งบประมาณก็ไม่ต่างกัน

สำหรับประเด็นที่ 2 ถามว่า “เห็นด้วยหรือไม่กับเกณฑ์และแนวทางในการควบรวมองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่กำหนดไว้ในร่างประมวลกฎหมายองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น” ผลปรากฏว่าไม่เห็นด้วย 55% และเห็นด้วย 44.9% โดยผู้ที่ไม่เห็นด้วยระบุว่าเทศบาลที่มีอยู่เดิมการบริหารจัดการดีอยู่แล้ว ถ้าต้องควบรวมจะทำให้มีปัญหา เพราะบางพื้นที่ประชาชนมีจำนวนน้อยต้องข้ามภูเขาเป็นลูกๆ ทั้งพื้นที่ก็กว้าง ส่งผลต่อการบริหารจัดการที่ยุ่งยาก นอกจากนั้นในบางพื้นที่มีทั้งสังคมเมืองและสังคมชนบท จะมีปัญหาการปรับตัวเข้าหากัน

ขณะที่ผู้เห็นด้วยกับการควบรวม ให้เหตุผลว่าบุคลากรใน แต่ละท้องถิ่นมีจำนวนเยอะมาก ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย เพราะงบประมาณส่วนใหญ่อยู่ที่เงินเดือน แต่มีเงื่อนไขว่าในการควบรวมต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี

tp16-3297-a สำหรับร่างพ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพ.ศ. ... และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการรับฟังความเห็นของฝ่ายต่างๆ นั้น มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

หลักการและเหตุผลของ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... เป็นกฎหมายที่ต้องออกคู่กับร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เป็นนิติบุคคล มีหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งอปท.ดังนี้ 1.เทศบาลตำบล มีประชากรไม่เกิน 15,000 คน 2.เทศบาลเมือง มีประชากรเกิน 15,000 คน แต่ไม่เกิน 50,000 คน 3.เทศบาลนคร มีประชากรเกิน 50,000 คนขึ้นไป

กำหนดองค์ประกอบ คุณสมบัติ การพ้นจากตำแหน่งของสมาชิกสภาอปท. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนดังนี้ 1.สภาเทศบาลตำบลที่มีประชากรไม่เกิน 7,000 คน ให้มีสมาชิกสภาเทศบาลตำบลได้ 12 คน ส่วนที่มีประชากรเกิน 7,000 คน แต่ไม่เกิน 11,000 คน ให้มีสมาชิกสภาเทศบาลตำบลได้ 15 คน ประชากรเกิน 11,000 คน แต่ไม่เกิน 15,000 คน ให้มีสมาชิกสภาเทศบาลตำบลได้ 18 คน ทั้งนี้ ในแต่ละเขตเลือกตั้งให้มีสมาชิกสภาเทศบาลตำบลจำนวน 3 คน

2.สภาเทศบาลเมือง ที่มีประชากรเกิน 15,000 คน แต่ไม่เกิน 32,500 คน ให้มีสมาชิกสภาเทศบาลเมือง 21 คน ประชากร 32,500 คน แต่ไม่เกิน 50,000 คน ให้มีสมาชิกสภาเทศบาลเมือง 24 คน

3.สภาเทศบาลนคร ที่มีประชากรเกิน 50,000 คน แต่ไม่เกิน 100,000 คน ให้มีสมาชิกสภาเทศบาลนคร 27 คน ประชากรเกิน 100,000 คนขึ้นไปให้มีสมาชิก สภาเทศบาลนคร 30 คน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,297 วันที่ 17 - 20 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1-5