คลองผันน้ำคู่ขนานวงแหวนรอบที่ 3 โปรเจ็กต์หมื่นล้าน รับมือน้ำท่วมกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

19 ก.ย. 2560 | 23:20 น.
สืบเนื่องจากปัญหานํ้าท่วมที่เกิดขึ้นในปี 2554 พบว่าแม่นํ้าเจ้าพระยามีความกว้างและใหญ่ เป็นพื้นที่ราบทำให้การระบายนํ้าไม่ทันในกรณีที่มีฝนตกจำนวนมาก ดังนั้นจำเป็นที่ต้องมีคลองผันนํ้ามาช่วยเพิ่มอัตราการไหลของนํ้าที่มาจากแม่นํ้าเจ้าพระยาตอนเหนือ ไปสู่พื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อให้เกิดการส่งนํ้าไปที่คลองผันนํ้าก่อนที่จะไหลลงสู่อ่าวไทย

TP12-3267-1A ขณะนี้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ให้ความช่วยเหลือในการศึกษาความเหมาะสม โดยมีแนวคิดที่ใช้ประโยชน์ทั้ง 2 โครงการมาบูรณาการให้มีคลองผันนํ้าอยู่ทางด้านขวาของแม่นํ้าเจ้าพระยาหรือฝั่งตะวันออก คู่ขนานไปกับถนนวงแหวนรอบที่ 3 ของกรมทางหลวง (ทล.) จึงจัดเป็นเมกะโปรเจ็กต์ระดับหมื่นล้านบาทที่รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการเร่งผลักดันเตรียมนำเสนอสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) สัญจรที่จังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 18-19 กันยายนนี้เพื่อขอความเห็นชอบหลักการ ก่อนเร่งออกแบบรายละเอียดในปีหน้าและก่อสร้างปี 2564 เพื่อให้แล้วเสร็จปี 2568

สำหรับแนวเส้นทางถนนวงแหวนรอบที่ 3 เริ่มต้นจากที่บริเวณทางหลวงหมายเลข 32 ถนนสายเอเซีย กม.ที่ 13+790 ต.บ้านกรด ต.คุ้งลาน อ.บางปะอิน ตัดตรงก่อนยกระดับข้ามมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา แล้วตัดผ่าน ต.หันตะเภา ถ.พหลโยธิน ทางหลวงหมายเลข 1 อ.วังน้อย ผ่าน ต.หันตะเภา ถ.พหลโยธิน อ.หนองเสือ อ.คลองหลวง-คลองสิบ จ.ปทุมธานี แล้วไปตัดเชื่อมกับถนนหมายเลข 305 (รังสิต-นครนายก) บริเวณ กม.25+850 หรือใกล้ชุมชนคลองสิบ จากนั้นแนวเส้นทางจะผ่านสนามกอล์ฟลำลูกกา ยกระดับข้ามถนนลำลูกกาผ่านเขตหนองจอก แขวงโคกแฝด สนามกอล์ฟปัญญา ปาร์ค ตัดข้ามถนนสาย 304 แขวงลำผักชี แขวงลำปลาทิว พื้นที่เขตลาดกระบัง และคู่ขนานไปกับรั้วสนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนที่จะไปตัดกับมอเตอร์เวย์สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี บริเวณ กม.23+900 จากนั้นตัดตรงกับ–ถ. บางนา-ตราด กม. ที่ 24 ทางด้านตะวันตกของชุมชนในพื้นที่ อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ

TP12-3267-A ในส่วนคลองผันนํ้า กว้าง 160 เมตร ยาว 110 กม. แนวเส้นทางเริ่มต้นจากจุดเชื่อมแม่นํ้าป่าสักและแม่นํ้าเจ้าพระยามาบรรจบกันที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ผ่านปทุมธานี นนทบุรี ห่างจากสนามบินสุวรรณภูมิ 10 กม. แล้ว นํ้าไหลลงสู่อ่าวไทยที่บางปู จ.สมุทรปราการ โดยคาดการณ์ปริมาณนํ้าผ่านคลองผันนํ้า 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ทั้งนี้จากผลการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 17% โดยจะมีการออกแบบให้มีพื้นที่รับนํ้าหรือแก้มลิงในคลองผันนํ้าด้วย กรณีที่นํ้ามามากต้องมีที่พักนํ้า รวมทั้งคลองดังกล่าวมีระยะทางค่อนข้างยาวจึงต้องศึกษาให้มีผลกระทบน้อยที่สุด ขณะเดียวกันมองเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจควบคู่กันไปด้วย ส่วนงบประมาณขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปคาดว่าจะใช้ไม่น้อยกว่าหลักหมื่นล้านบาท เพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่เมื่อออก แบบรายละเอียดแล้วเสร็จจึงจะทราบมูลค่าโครงการที่ชัดเจน เช่นเดียวกับพื้นที่เวนคืน

โครงการดังกล่าวนี้จัดเป็น 1 ใน 9 โครงการของแผนบริหารจัดการนํ้าของประเทศ โดยในครั้งนี้ไจก้าต้องการให้เกิดการบูรณาการร่วมกันระหว่างคลองผันนํ้าในแม่นํ้าเจ้าพระยาและงานถนนวงแหวนรอบที่ 3 ซึ่งเดิมนั้นทล. ได้ดำเนินโครงการศึกษาการก่อสร้างทางหลวงสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 ด้านตะวันออก และในปี 2561 จะเริ่มดำเนินการออกแบบรูปแบบเส้นทางไป-กลับ ให้เป็นถนนกว้าง 80 เมตร ยาว 97 กม. ขนาด 4 ช่องจราจร และ 6 ช่องจราจรในช่วงย่านชุมชน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,297 วันที่ 17 - 20 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1-5