บอร์ดร.ฟ.ท.ไฟเขียวงบ5ทางคู่ ชงคมนาคมเสนอครม.เห็นชอบก่อนเร่งเซ็นสัญญา

18 ก.ย. 2560 | 12:49 น.
บอร์ดร.ฟ.ท.เปิดประชุมวาระพิเศษไฟเขียวงบ 5 รถไฟทางคู่พร้อมการปรับเปลี่ยนรายละเอียดตามมติคกจ.ชงคมนาคมเสนอครม.เห็นชอบก่อนเซ็นสัญญาปลายก.ย.-ต้นต.ค.นี้ ยังมีลุ้นเกินงบตามมติครม.เดิมอนุมัติไว้กว่าแสนล้านบาท จับตาปรับเพิ่มงบกรณีสถานีนครราชสีมาและเวนคืนแนวเส้นทาง

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าคณะกรรมการ(บอร์ด) ร.ฟ.ท.เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 ได้เห็นชอบกรณีการปรับกรอบวงเงินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางคือ 1.เส้นทางลพบุรี-ปากนํ้าโพ 2.เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 3.เส้นทางนครปฐม-หัวหิน 4.เส้นทางหัวหิน-ประจวบ คีรีขันธ์ และ 5. เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร

[caption id="attachment_181793" align="aligncenter" width="503"] อานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อานนท์ เหลืองบริบูรณ์[/caption]

โดยจากเดิมที่ครม.มีมติอนุมัติกรอบวงเงินไว้ 101,748 ล้านบาท ปรับลดเป็น 95,753 ล้านบาทแบ่งเป็นวงเงินก่อสร้างงานโยธาและระบบรางจำนวน 10 สัญญา วงเงินค่าก่อสร้างงานระบบอาณัติสัญญาณจำนวน 3 สัญญา วงเงินค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารโครงการและควบคุมการก่อสร้างจำนวน 3 สัญญา วงเงินค่าเวนคืนจำนวน 5 รายการ และวงเงินค่าดำเนินการประกวดราคาจำนวน 6 รายการ

ดังนั้นร.ฟ.ท.จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องนำเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาเนื่องจากมีการแบ่งสัญญาใหม่รวม 13 สัญญา จากเดิม 5 สัญญาตามความเห็นของคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง(คกจ.) ทำให้กระทรวงการคลังไม่สามารถกู้เงินโครงการให้สอดคล้องกับชื่อของสัญญาได้ อันเป็นเหตุให้ไม่สามารถลงนามสัญญาต่อไปได้ หลังจากที่ผลการประกวดราคาเกิดขึ้น แม้ว่าจะมีการปรับลดวงเงินค่าก่อสร้างลงได้ 6,398 ล้านบาท

TP12-3267-3A สำหรับประเด็นหลักของการปรับลดและเพิ่มรายละเอียดเกิดขึ้นนั้น อาทิ การปรับเพิ่มรายการที่ปรึกษาการบริหารจัดการโครงการ ค่าจ้างที่ปรึกษาประกวดราคางานอาณัติสัญญาณที่ต้องมีการเพิ่มงบประมาณ อีกทั้งยังมีค่าเวนคืนช่วง
ลพบุรี-ปากนํ้าโพ และช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ การปรับแนวเส้นทางก่อสร้างอุโมงค์ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ล่าสุดคือการปรับแบบรายละเอียดก่อสร้างสถานีนครราชสีมาที่ประชาชนต้องการให้เป็นสถานียกระดับ

ทั้งนี้เบื้องต้นนั้นจะไม่พยายามเข้าไปแตะรายละเอียดในกรณีการปรับเพิ่ม-ลดงบประมาณมากนักเพราะเห็นว่าโครงการยังไม่ได้มีการลงนามสัญญาอาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเกิดขึ้นได้อีก อาทิ กรณีค่าก่อสร้างสถานีนครราชสีมา หรือค่าเวนคืนในจุดต่างๆเพิ่มเติม แม้ว่าขณะนี้จะปรับลดงบประมาณลงไปได้แล้วราว 6,000 ล้านบาทก็ตาม แต่กรอบวงเงินยังอยู่ในกรอบเดิมที่มติครม.อนุมัติไว้แล้ว อีกทั้งหากเริ่มการก่อสร้างแล้วมีงบเพิ่มมาอีกก็จะเร่งนำเสนอครม.เห็นชอบต่อไปซึ่งในครั้งนั้นจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น

“หลังจากนี้จะเร่งนำเสนอกระทรวงคมนาคมเห็นชอบตามมติบอร์ดร.ฟ.ท.เพื่อเร่งนำเสนอครม.อนุมัติเพื่อให้สามารถลงนามในสัญญากับผู้รับเหมาแต่ละสัญญาให้ได้ตามแผนที่กำหนดไว้ในช่วงปลายเดือนกันยายน 2560 และช่วงต้นเดือนตุลาคม 2560 นี้เนื่องจากไม่อยากให้เกิดผลกระทบโครงการให้ล่าช้าต่อไปอีกเพราะยังมีกรณีสถานีนครราชสีมาที่ยังเป็นห่วงว่าจะเกิดผลกระทบระยะเวลาอีกมากน้อยเพียงใดหรือกรณีเมื่อดำเนินการก่อสร้างเส้นทางต่างๆ แล้วอาจจะมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้อีกเช่นกัน”
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,297 วันที่ 17 - 20 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1