‘หลักชัย’ทุ่ม4พันล้าน ผุดเฟส2นิคมอุตฯไฮเทครับอีอีซี

19 ก.ย. 2560 | 23:20 น.
หัวกระไดระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีไม่แห้ง ทัพธุรกิจญี่ปุ่นคณะใหญ่สุดเพิ่งกลับไป รัสเซียอีกคณะใหญ่เตรียมจัดทัพจองคิวลงพื้นที่ขณะรัฐบาลไทยประกาศลงทุนกว่า6แสนล้านบาทสร้างโครงสร้างพื้นฐานรองรับอีอีซีใน 5 ปี อีกด้านภาคเอกชนในพื้นที่แข่งผุด-ขยายนิคม/เขต/สวนอุตสาหกรรมเด้งรับอานิสงส์ ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท ไทยเบคก้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัดที่มี“หลักชัย กิตติพล” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารเป็นหนึ่งในหลายรายที่จะร่วมชิงเค้ก

++ทุนจีนลงแล้ว 4 หมื่นล.
“หลักชัย” เผยในการให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า นิคมฯหลักชัยเมืองยางเป็นนิคมที่พัฒนาภายใต้พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)ตั้งอยู่ที่ ต.สำนักทอง อ.เมือง จ.ระยอง ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)ของรัฐบาล ปัจจุบันได้พัฒนาพื้นที่ในเฟสแรกแล้วรวม 2,200 ไร่ เงินลงทุน 3,000 ล้านบาท(รวมค่าที่ดิน) ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่สร้างรายได้ 1,500 ไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่สีเขียว และพื้นที่สาธารณูปโภค เช่นถนน สระนํ้า และพื้นที่สันทนาการต่างๆ

[caption id="attachment_208884" align="aligncenter" width="367"] หลักชัย กิตติพล หลักชัย กิตติพล[/caption]

“ปัจจุบันเราขายพื้นที่ได้แล้ว 700 ไร่ มีผู้ประกอบการจากจีนเข้ามาลงทุนแล้ว 5 รายรวมเงินลงทุนในเบื้องต้นประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ 3 ราย ผลิตที่นอนและหมอนจากยางพารา 1 ราย และโรงงานผลิตไอนํ้า 1 ราย ทั้งนี้มี 2 รายที่ผลิตและส่งออกแล้ว อีก 1 รายอยู่ระหว่างทดลองเดินเครื่องจักรและจะเริ่มผลิตส่งออกในปีนี้ อีก 1 รายคาดโรงงานจะแล้วเสร็จปีหน้า และอีก 1 รายจะเริ่มก่อสร้างโรงงานในเดือนตุลาคมนี้แล้วเสร็จและส่งออกได้ในปีหน้า”

++เตรียมเฟส2อีก3พันล.
สำหรับพื้นที่อีก 800 ไร่ที่เหลือคาดจะขายได้ทั้งหมดภายในปีหน้า และทางบริษัทได้เตรียมพัฒนาพื้นที่อีก 3,000 ไร่ เพื่อขยายการลงทุนในเฟส 2 เป้าหมายรองรับการลงทุนในอีอีซี คาดจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 4,000 ล้านบาทในการซื้อที่ดินและสร้างสาธารณูปโภครองรับ เบื้องต้นวางเป้าหมายโรงงานจะเข้ามาตั้ง 20-30 ราย โดยมุ่งเน้นโรงงานในคลัสเตอร์เกี่ยวกับยางพารา รวมถึง 10 อุตสาหกรรมสมัยใหม่ที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาลสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่จะใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคต

“ในเฟส 2 คาดจะเริ่มพัฒนาได้ในปลายปีหน้า โดยยังมุ่งเน้นอุตสาหกรรมในคลัสเตอร์ที่เกี่ยวเนื่องจากยางพารา เพราะเราเป็นนิคมสีเขียว เป้าหมายทั้ง 2 เฟสโรงงานที่เข้ามาตั้งจะใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบปีละไม่ตํ่ากว่า 1 ล้านตัน และอีกส่วนหนึ่งอยู่ในกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

++ที่ดินระยองพุ่งไร่ละล้าน
“หลักชัย”กล่าวว่า อุปสรรคส่วนหนึ่งที่ทำให้การลงทุนในพื้นที่อีอีซี(ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา)ยังไม่บูมมากนัก ผลจากนักลงทุนรอดูพ.ร.บ.หรือกฎหมายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่จะคลอดออกมารองรับว่าจะเป็นเช่นไร ซึ่งหากมีความชัดเจน เอื้อต่อการลงทุน และสร้างความเชื่อมั่นคาดคลื่นลงทุนระลอกใหม่ของต่างชาติจะเข้ามาอย่างคึกคักแน่นอน อย่างไรก็ดียอมรับว่าอุปสรรคของการลงทุนของบริษัทในเฟส 2 ที่จะใช้เงินลงทุนสูงกว่าในเฟสแรก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาที่ดินในพื้นที่ จ.ระยอง จาก 4-5ปีก่อนอยู่ที่ 4-5 หมื่นบาทต่อไร่ปีที่ผ่านมาถึงต้นปีนี้ปรับขึ้นเป็น 4-5 แสนบาทต่อไร่ ล่าสุด ณ ปัจจุบันเรียกไร่ละ 1 ล้านบาท ถือว่าปรับตัวสูงขึ้นมาก

++ขอเป็นเขตส่งเสริมพิเศษ
อย่างไรก็ดีจากที่มีผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมของเอกชนได้ยื่นขอเป็นเขตส่งเสริมพิเศษต่อคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(กรศ.)(5แห่ง ได้แก่ นิคมฯโรจนะ นิคมฯอมตะ นิคมฯซีพี นิคมฯเหมราช นิคมฯปิ่นทอง)จากที่จะมุ่งเน้นดึงการลงทุนใน10อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาลนั้น ทางนิคมฯหลักชัยจะทำเรื่องขอเป็นเขตส่งเสริมพิเศษต่อ กรศ.เช่นกัน ทั้งนี้เขตส่งเสริมพิเศษจะได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนสูงสุด

“มองว่าจากคณะนักลงทุนญี่ปุ่นเกือบ600 รายที่เพิ่งเข้ามาดูลู่ทางโอกาสการลงทุนระลอกใหม่ในเขตพื้นที่อีอีซี และรัฐบาลไทยได้ให้ข้อมูลถึงทิศทางและโอกาสจะทำให้นักลงทุนญี่ปุ่น และชาติอื่นๆเกิดความมั่นใจที่จะเข้ามามากขึ้นและเชื่อว่าการลงทุนในอีอีซีจะบูมไปอีก10ปีนับจากนี้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,297 วันที่ 17 - 20 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1