แนะค้าปลีกไทยติดปีกออนไลน์ เซ็นทรัลปรับโมเดลCOLเป็นออมนิโลจิสติกส์

17 ก.ย. 2560 | 11:53 น.
ชี้เทรนด์ช็อปปิ้งออนไลน์แรงสุดขั้ว แนะผู้ประกอบการอยากรอดต้องลุย ขณะที่รายกลางต้องเร่งหาพันธมิตร ด้าน “เซ็นทรัล” ขยับทัพปรับโมเดลธุรกิจใหม่ ถอนยวงออนไลน์ออกจาก COL ใหม่ พร้อมดันขึ้นออมนิ โลจิสติกส์แทน

นายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนาหัวข้อ “Is Omni-Channel the New Retail Reality” ในงานนิทรรศการสินค้าและการประชุมนานาชาติประจำปี เพื่อธุรกิจค้าปลีก หรือรีเทลเอ็กซ์ อาเซียน 2017 (RetailEX ASEAN 2017) ซึ่งมีขึ้น ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานีว่า ธุรกิจออนไลน์เข้ามามีบทบาทและเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจค้าปลีกในปัจจุบัน ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคเองหันไปให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกันทั่วโลก อย่างไรก็ดีสำหรับประเทศไทยเองนั้นยังต้องมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผนึกรวมกันแบบไร้รอยต่อ หรือออมนิ แชนเนล เพราะร้านค้าปลีกเมืองไทยมีความแข็งแรง เมื่อเทียบกับออนไลน์ที่ยังอยู่ในช่วงการเริ่มต้นเติบโต

[caption id="attachment_208801" align="aligncenter" width="503"] วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) วรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน)[/caption]

“สโตร์ค้าปลีกในเมืองไทยมีความหลากหลาย มีทั้งร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่ง แตกต่างจากสโตร์ในต่างประเทศ ทำให้เป็นจุดแข็งที่จะยังคงเติบโต แต่เทรนด์ของออนไลน์ที่มาแรง ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวว่าจะทำอย่างไรให้เกิดเป็นออมนิ แชนเนล”

สำหรับทิศทางการเติบโตของธุรกิจในอนาคต เชื่อว่าจะพัฒนามากกว่าการเป็นอี-คอมเมิร์ซแต่จะก้าวสู่การเป็น อี-บิสิเนส ประกอบไปด้วย 4 เสาหลัก ได้แก่ อี-คอมเมิร์ซ,อี-มันนี่,อี-โลจิสติกส์ และอี-ดาต้า หรือบิ๊ก ดาต้า ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญสำหรับเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และวางแผน กำหนดกลยุทธ์ต่อไปในอนาคต โดยบิ๊ก ดาต้าจะถูกนำไปเชื่อมโยงสู่ Internet of Think เช่น ระบบออเดอร์ริ่ง ดีไวท์ เป็นต้น

“ผู้ประกอบการค้าปลีกรายย่อยจะรู้จักการขายผ่านช่องทางออนไลน์จากโซเชียล เน็ตเวิร์กสู่โซเชียลคอมเมิร์ซซึ่งหัวใจสำคัญคือคอนเทนต์ มาร์เก็ตติ้ง และโลจิสติกส์ ซึ่งประกอบไปด้วยการจัดหาสินค้า,การจัดเก็บสินค้า และการจัดส่งสินค้า ขณะที่ผู้ประกอบการรายกลางจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากสุดหากไม่รู้จักปรับตัวและรู้จักหาพันธมิตรเข้ามาร่วมสร้างความแข็งแกร่งเพราะการลงทุนด้านระบบของออนไลน์จะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนเยอะ การหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมาเสริม จะทำให้ลดต้นทุนได้มาก แต่หากไม่ก็จะไม่สามารถแข่งขันและต้องออกจากธุรกิจไปในที่สุด

อย่างไรก็ดีเพื่อรองรับการเติบโตของค้าปลีกออนไลน์ในอนาคต กลุ่มเซ็นทรัลเองจะหันมาลงทุนมากขึ้น จึงมีแนวคิดในการแยกธุรกิจออนไลน์ออกไปบริหารจัดการเต็มรูปแบบ จากเดิมที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) หรือเซ็นทรัล ออนไลน์ เดิม พร้อมกันนี้ได้ปรับโมเดลธุรกิจของซีโอแอลใหม่เป็น เซ็นทรัล ออมนิ โลจิสติกส์ เพื่อดูแลด้านออมนิ แชนเนลเต็มตัว

“ซีโอแอลเริ่มแยกตัวธุรกิจออนไลน์ออกไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยจะมุ่งดำเนินธุรกิจในเรื่องของออมนิ แชนเนลและโลจิสติกส์เต็มรูปแบบ ได้แก่ การผนึกรวมระหว่างสโตร์ เว็บไซต์และแคตตาล๊อค ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญที่มีอยู่แล้ว และในปีหน้าบริษัทมีแผนขยายธุรกิจในรูปแบบของออมนิ แชนเนล แฟรนไชส์ โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาลงทุนร้านในรูปแบบของแฟรนไชส์ ซึ่งจะทำให้สามารถขยายการลงทุนได้เร็วขึ้น รวมทั้งมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด จากปัจจุบันที่มียอดขายราว 1.2 หมื่นล้านบาท เติบโต 7-8%” นายวรวุฒิ กล่าวและว่า

วันนี้การจะเติบโตได้แบบก้าวกระโดดต้องมาจากการควบรวมกิจการหรือเทกโอเวอร์เป็นหลัก ซึ่งตลาดเครื่องเขียนเองอยู่ในภาวะทรงตัว และมีผู้ค้ารายย่อยในต่างจังหวัดเกือบ 1 หมื่นร้านค้า การจะขยายสาขาเพิ่มจึงเป็นเรื่องยากเพราะแต่ละชุมชนมีการแข่งขันและมีการแบ่งตลาดกันชัดเจน ดังนั้นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้ร้านค้าเหล่านั้นเข้าร่วมเป็นแฟรนไชส์ และขยายรูปแบบการขายในรูปแบบออมนิ แชนเนลจะช่วยสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับร้านค้าเหล่านี้ด้วย โดยบริษัทตั้งเป้าหมายที่จะมีร้านแฟรนไชส์ 1แห่งต่อ 1 อำเภอ

นอกจากนี้ยังมีแผนขยายการลงทุนในรูปแบบแฟรนไชส์ไปยังต่างประเทศ โดยเริ่มต้นที่เวียดนามตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาปัจจุบันเปิดให้บริการ 1 แห่งโดยเป็นการลงทุนของบริษัทเอง และจะเพิ่มขึ้นเป็น 10 แห่งในปีหน้า ก่อนที่จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นในรูปแบบของแฟรนไชส์ พร้อมกับการขยายไปยังประเทศอื่นๆ ทั้งอินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา ลาว เมียนมาด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,297 วันที่ 17 - 20 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1