คลอดเกณฑ์ใหม่ทำประมงทั้งปี 6เครื่องมือได้เฮ-‘ฉัตรชัย’ย้ำอาเซียนยึดยั่งยืน

18 ก.ย. 2560 | 11:08 น.
กรมประมงเตรียมคลอดหลักเกณฑ์ใหม่การออกใบอนุญาตทำการประมง ปี 2561-2562 เผย 6 เครื่องมือได้เฮ ทำประมงได้ทั้งปี ด้าน “ฉัตรชัย” ยันแก้ปัญหา
ไอยูยูเต็มพิกัด เตรียมประกาศจุดยืนเวทีประชุมรมต.เกษตรอาเซียน

“ฐานเศรษฐกิจ” เคยนำเสนอการออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ประจำปี 2559-2561 ให้กับเรือประมงขนาดตั้งแต่ 10 ตันกรอส ไปจนถึงขนาด 30 ตันกรอสขึ้นไป จำนวน 1.12 หมื่นลำ โดยกรมประมงได้มีการกำหนดให้เรือ 1 ลำจะต้องมีใบอนุญาตทำการประมงอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อให้สอดคล้องกับค่า MSY หรือปริมาณผลผลิตของสัตว์นํ้าที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน (ใบอนุญาตทำการประมงจะมีอายุ 2 ปี เริ่มในปีการทำประมงใหม่ คือตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 -31 มีนาคม 2561)

แหล่งข่าวจากกรมประมง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการประชุม เมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมาได้มีหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตทำการประมงปี 2561-2562 ออกมาใหม่ กลุ่มแรกเป็นใบอนุญาตทำการประมงโดยไม่ควบคุมวันทำการประมงหรือสามารถทำการประมงได้ทั้งปี ได้แก่ 1. เครื่องมืออวนติดตาทุกชนิด 2. เครื่องมือลอบทุกชนิด 3. เครื่องเบ็ดทุกชนิด 4. เครื่องมืออวนครอบหมึก 5. เครื่องมือคราดทุกชนิด และ 6. เครื่องมืออวนรุนเคย กลุ่มที่ 2 ใน 4 เครื่องมือใบอนุญาตทำการประมงประ เภทควบคุมวันทำการประมง ได้แก่ เครื่องมืออวนลากทุกชนิด เครื่องมืออวนล้อมจับทุกชนิด เครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตัก และเครื่องมืออวนครอบ ช้อน ยกปลากะตัก (ดูกราฟิกประกอบ)

tp8-3297-a “เรือประมงที่มีการลดวันทำประมงในปี 2560 ให้ได้รับวันทำการประมงเท่าที่ได้รับอยู่ เว้นแต่จะมีการควบรวมใบอนุญาตทำการประมงตามคำสั่ง คสช.ที่ 22/2560 หากควบรวมใบอนุญาตแล้วให้มีวันทำการประมงได้ทั้ง
ปี ส่วนหลักเกณฑ์การจัดสรร
ปริมาณสัตว์นํ้า ทางกรมประมงจะคำนวณปริมาณสัตว์นํ้า และจัดสรรให้เรือที่มีการปรับลดวันทำการประมง (กลุ่ม 1) เป็นลำดับแรก โดยทำการประมงตลอดทั้งปี เมื่อจัดสรรให้กลุ่มที่ 1 แล้ว ปริมาณสัตว์นํ้าที่เหลือจะจัดสรรให้เรือที่มีการปรับลดวันทำการประมง ในกลุ่ม 2 โดยวิธีเรียงลำดับ และปริมาณสัตว์นํ้าที่เหลือจากข้อ 2 จัดสรรให้เรือที่จะขอรับใบอนุญาตใหม่”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า วิธีการเรียงลำดับ คือ ให้เรือประมงทุกขนาดตันกรอสที่ไม่มีการปรับลดวันทำการประมง (กลุ่ม 1) จะถูกกำหนดไว้ในลำดับที่ 1 เท่ากันทุกลำ โดยแบ่งเครื่องมือประมงตามกลุ่มสัตว์นํ้า แล้วจัดเรียงลำดับจากเรือที่มีการปรับลดวันทำการประมงน้อยที่สุด ไปยังเรือที่มีการปรับลดวันทำการประมงมากที่สุดตามกลุ่มสัตว์นํ้า

ด้านพล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยว่า ในช่วงปีเศษที่ได้มากำกับดูแลแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม(ไอยูยู ฟิชชิ่ง) ได้เร่งดำเนินการ
ในหลายเรื่อง เช่นการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.ก.การประมงให้มีเนื้อหาครอบคลุม และมีกฎหมายลำดับรองที่ต้องดำเนินการ 22 เรื่องกำหนดแล้วในเดือนตุลาคม2560

ด้านการบริหารจัดการกองเรือได้ดำเนินการวัดขนาดเรือเพื่อจัดทำอัตลักษณ์แยกแยะประเภทของเรือครอบคลุมเรือที่เกี่ยวข้องกับการประมงทั้งระบบ ได้แก่ เรือจับปลา เรือปั่นไฟ เรือบรรทุกสินค้าประมง เรือบรรทุกนํ้ามัน และเรือบรรทุกนํ้าจืด

“ขณะนี้การจัดการกองเรือมีความคืบหน้าเกือบ 100% ซึ่งช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเราเห็นถึงความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมง แต่ต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความร่วมมือและผมจะถือโอกาฃสในการประชุมรัฐมนตรีเกษตรและป่าไม้ของอาเซียนครั้งที่ 39 ที่เชียงใหม่ (28-30 ก.ย. 60) นำประเด็นไปพูดคุยว่า อาเซียนควรร่วมมือกันทำประมงที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเป็นที่ยอมรับของสังคมโลก”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,297 วันที่ 17 - 20 กันยายน พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1