สทน.สร้างเครื่องเร่งอนุภาคแบบไซโคลตรอนหนุนไทยเป็นฮับทางการแพทย์

15 ก.ย. 2560 | 08:53 น.
สทน. จ้าง บริษัท ไคเนติคส์ จำกัด ก่อสร้างและติดตั้งเครื่องเร่งอนุภาคไซโคลตรอนและห้องปฏิบัติการด้านเภสัชรังสี ขนาด 30 MeV งบกว่า 880 ล้านบาท คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จใน 3 ปี เมื่อโครงการเสร็จจะสามารถผลิตเภสัชรังสี วินิจฉัยและรักษาให้เข้าถึงผู้ป่วยได้ราว 59,000 ราย และลดการนำเข้าสารเภสัชรังสีจากต่างประเทศได้ปีละกว่า 400 ล้านบาท คาดช่วยสนับสนุนไทยเป็นฮับทางการแพทย์

ดร.พรเทพ นิศามณีพงษ์ ผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า สทน.ได้มีการลงนามว่าจ้างบริษัทไคเนติคส์ จำกัด เพื่อก่อสร้างเครื่องไซโคลตรอนว่า จากนโยบายรัฐบาลด้านการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม และการพัฒนาขีดความสามารถในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข โดยจัดให้มีบุคคลากรและเครื่องมือที่ทันสมัย

witta2

สทน.ในฐานะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์มีภารกิจสำคัญประการหนึ่งคือ การวิจัยและผลิตเภสัชภัณฑ์รังสีเพื่อวินิจฉัยและรักษาโรค ซึ่งในปัจจุบัน สทน.ผลิตเภสัชภัณฑ์รังสีได้ส่วนหนึ่งแต่ไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วย ที่เหลือจำเป็นต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ต้องเสียเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก อีกทั้งอาจทำให้เภสัชรังสีที่นำเข้ามาราคาแพงทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้

โครงการก่อสร้างเครื่องเร่งอนุภาคไซโคลตรอนจึงเป็นโครงการหนึ่งที่ สทน.ดำเนินการนี้จะสนับสนุนความต้องการสารเภสัชรังสีที่ต้องใช้ไอโซโทปรังสีหลายชนิด ที่ผลิตด้วยเครื่องเร่งอนุภาคไซโคลตรอน สำหรับการตรวจวินิจฉัยและใช้เพื่อการบำบัดรักษาทางการแพทย์ที่ทันสมัย โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคมะเร็งและโรคหัวใจ รวมทั้งโรคร้ายแรงอื่นๆ ลดการพึ่งพาการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศเพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สนับสนุนให้เกิดความพร้อมในการลงทุนของภาคเอกชน เช่น อุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมผลิตสารกึ่งตัวนำและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ การปรับปรุงพื้นผิววัสดุ การผลิตวัสดุแผ่นเยื่อบางและการวิเคราะห์ธาตุโดยใช้เทคนิคการกระตุ้นด้วยอนุภาคมีประจุ ก่อให้เกิดการให้บริการเชิงธุรกิจ เป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์ อีกด้วย

witta

ในส่วนข้อมูลทางเทคนิค ดร.สมชาย เอื้อพิพัฒนากูล กรรมการผู้จัดการบริษัท ไคเนติคส์ จำกัด ระบุว่า เครื่องไซโคลตรอนแบบ MCC-30/15 มีกำลังขนาด 30 MeV จะก่อสร้างโดยบริษัท รอสอะตอม จากประเทศรัสเซีย โดยเครื่องไซโคลตรอนนี้จะใช้สำหรับผลิตไอโซโทปสำหรับใช้ในเครื่อง PET และ SPECT เพื่อวินิจฉัยในผู้ป่วยโรคหัวใจและเนื้องอก ที่สามารถทำให้วิเคราะห์สาเหตุของการเจ็บป่วยต้องถูกต้องขึ้น

เครื่องไซโคลตรอนเครื่องนี้จะใช้ระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 3 ปี หลังจากการก่อสร้างและเริ่มเดินเครื่องแล้ว ประเทศไทยจะสามารถลดการนำเข้าเภสัชภัณฑ์รังสีได้เป็นมูลค่ากว่า 480 ล้านบาท ให้การวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยได้ 49,000 ราย ในส่วนประโยชน์ในทางอ้อมนั้น เครื่องไซโคลตรอนยังช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของภูมิภาคในระดับอุตสาหกรรมต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการวิจัย การเรียนรู้ การวินิจฉัย และรักษาโรคมะเร็งของประเทศ เพื่อเป็นต้นแบบในการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่หน่วยงานต่างๆ ทั้งในประเทศ และกลุ่มประเทศต่างๆ ในอาเซียนอีกด้วย

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1