‘นักธุรกิจอุดร’ล้มนิคมอุตฯ อ้างร.ฟ.ท.ไม่ต่อรางรถไฟถึงโครงการ

16 ก.ย. 2560 | 12:52 น.
สุวิทย์ “เลิก” โครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี อ้างร.ฟ.ท.ไม่สนับสนุนต่อรางจ่อหน้าโครงการศูนย์กระจายสินค้า 5 จังหวัดอีสานตอนบน “แท้ง”

นายสุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด ผู้ดำเนินการโครงการนิคมอุตสาหกรรมสีเขียวอุดรธานี เปิดเผยว่า ได้ตัดสินใจหยุดการดำเนินการโครงการนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี แม้ได้มีการลงทุนไปส่วนหนึ่งแล้ว และมีองค์กรภาครัฐและเอกชน(กรอ.) ทุกระดับ ให้การสนับสนุนก็ตาม ที่ผ่านมาตนและบริษัท ก็ได้ดิ้นรนดำเนินการโครงการดังกล่าวมาอย่างสุดความสามารถ แต่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ไม่ลงทุนวางรางรถไฟจากพื้นที่ของการรถไฟฯที่สถานีรถไฟหนองตะไก้ อ.เมืองอุดรธานี ไปยังพื้นที่ของโครงการนิคมฯ ระยะทางประมาณ 1.8 กม. มูลค่าการลงทุนประมาณ 43 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น เช่น การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กรมทาง หลวง การประปาส่วนภูมิภาค ฯลฯ ได้ให้การสนับสนุนลงทุนในด้านสาธารณูปโภคที่จำเป็นให้กับโครงการจนมีความพร้อมหมดทุกอย่างแล้ว

[caption id="attachment_207514" align="aligncenter" width="503"] สุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด สุวิทย์ พิพัฒน์วิไลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี จำกัด[/caption]

“โครงการ นิคมอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี ซึ่งได้รับอนุญาตจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในรูปแบบของนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินการ ซึ่งการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2555 ที่เห็นชอบตามหลักการส่งเสริมและสนับสนุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งโครงการได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างดี เนื่องจากจะสร้างประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ สนับสนุนการแปรรูปสินค้าการเกษตรให้เป็นสินค้าอุตสาหกรรม ส่งเสริมด้านขนส่งโลจิสติกส์ทางรางจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ไปยังท่าเรือขนส่งออกไปต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านการสร้างรายได้ค่าระวาง หรือค่าบรรทุก ให้กับ ร.ฟ.ท. ซึ่งจะเป็นผลประโยชน์อย่างมหาศาล และยังเป็นการสนับสนุนเกิดศูนย์กระจายสินค้าให้กับการลงทุนในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน นักลงทุนกับชนิดอื่นๆ อีกด้วย”

นายสุวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมานั้นตนเองและผู้บริหารโครงการ ได้มีการพยายามพูดคุยกับ ร.ฟ.ท. หลายครั้ง แต่มีการเปลี่ยนตัวบุคคลที่พูดคุยเจรจากันทุกครั้งไม่ซํ้ากันเลย ดูเลื่อนลอยไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน ซึ่งการเจรจาครั้งล่าสุด นายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่ร่วมเดินทางมากับคณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่ได้มีข้อมูลใดๆ เลย กล่าวแต่ว่า จะต้องกลับไปศึกษาพื้นที่ดังกล่าวก่อน ซึ่งหากไม่มีการสนับสนุนจาก ร.ฟ.ท.ก็จะเป็นจุดอ่อนต่อการลงทุนของโครงการเป็นอย่างมาก เพราะการขนส่งทางรางจะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำการขนส่งของนักลงทุน กว่าการขนส่งทางรถยนต์หลายเท่าตัว
แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1
“โครงการขอให้ ร.ฟ.ท.ลงทุนวางรางไปจ่อที่ปากทางพื้นที่โครงการเท่านั้น ต่อจากนั้นทางโครงการจะลงทุนต่อเชื่อมเอง โดยได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ออกแบบศูนย์กระจายสินค้าในพื้นที่โครงการแล้ว บนพื้นที่ 93 ไร่ มูลค่า 193 ล้านบาท และสามารถขยายออกไปได้ถึง 400 ไร่ เพราะได้มีการกันพื้นที่เอาไว้แล้ว พร้อมกับได้ออกแบบก่อสร้างถนนเพื่อให้นำเอาสินค้าชนิดอื่นๆ ของโครงการต่างๆ นอกโครงการ จาก 5 จังหวัดภาคอีสานตอนบน เข้ามาใช้ศูนย์กระจายสินค้าของโครงการ เพื่อขนส่งต่อไปยังท่าเรือ และเป็นการลงทุนของโครงการเองอีกด้วย ด้วยงบประมาณ 9.8 ล้านบาท”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,296 วันที่ 14 - 16 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1