วัฒนธรรม‘หนี้ครัวเรือน’นานาชาติ

13 ก.ย. 2560 | 06:50 น.
TP07-3296-A เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา สถาบัน วิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) นำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “X-Ray พฤติกรรมการกู้ของคนไทยผ่าน Big Data ของเครดิตบูโร” โดยดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และคุณอัจจนา ลํ่าซำ ซึ่งเป็น วันเดียวกันกับที่ธนาคารกลางแห่งประเทศอินเดีย (Reserve Bank of India : RBI) เผยแพร่งานวิจัย The Indian Household Finance landscape ซึ่งมีการเปรียบเทียบระหว่างกรณีของอินเดีย จีน สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมนี และเมื่อเรานำงานวิจัยทั้ง 2 ชิ้นนี้มาพิจารณาเปรียบ เทียบกัน ก็จะทำให้เราได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นของวัฒนธรรม “หนี้ครัวเรือน” นานาชาติโดย 10 ประการผมอยากจะเล่าให้ฟังจากการเปรียบเทียบงานวิจัยทั้ง 2 ชิ้น มีดังนี้ครับ

1. พฤติกรรมของครัวเรือนไทยในเรื่องของความมั่งคั่ง มีความคล้ายกับครัวเรือนจีน และครัวเรือนอินเดีย แต่ยังห่างไกลจากพฤติกรรมของครัวเรือนในโลกตะวันตก และเมื่อพิจารณากันอย่างจริงจังแล้ว คนไทยมีความคล้ายชาวภารตมากกว่าชาวจีนในเรื่องเงินๆ ทองๆ ยกตัวอย่างเช่น ครอบครัวอินเดียนิยมสะสมความมั่งคั่งในรูปแบบของอสังหาริมทรัพย์และทองคำ โดยในกรณีของอินเดีย แม้แต่กลุ่มคนที่ยากจนที่สุด 40% ของประชากรอินเดีย ก็สะสมความมั่งคั่งในรูปแบบของการลงทุนในที่อยู่อาศัยและซื้อทองคำ โดยคนอินเดียพิจารณาว่าความมั่งคั่งของพวกเขา 76.9% มาจากการมีบ้านและที่ดิน และ 11% มาจากทองคำที่เก็บสะสมเอาไว้ ในขณะที่ครอบครัวจีนถือทองคำในฐานะของการสะสมความมั่งคั่งเพียงแค่ 0.4% เท่านั้น

2. ทั้งคนจีนและคนไทยต่างมอง ว่ารถยนต์และยานพาหนะเป็นเครื่องแสดงฐานะ โดยคนจีนสะสมความมั่งคั่งของพวกเขาไว้ในรูปของรถยนต์หรู คิดเป็น 28.4% ของสินทรัพย์ที่เขาถือครอง และในกรณีของคนไทย หนี้ครัวเรือน 33.7% เป็นหนี้เพื่อซื้อรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ในขณะที่ในโลกตะวันตก หลายๆ ครอบครัวเลือกที่จะสะสม ความมั่งคั่งในรูปแบบของตราสารทางการเงินและเครื่องมือทางการเงินรูปแบบต่างๆ

3. ครอบครัวอินเดียและครอบครัวจีนแม้จะเป็นกลุ่มยากจนที่สุด (20% ของประชากรที่มีรายได้ตํ่าที่สุด) ต่างก็พบว่า 59% และ 61% ของประชากรยากจนในอินเดียและจีน ต่างก็ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ขณะในสหรัฐอเมริกาและในสหราชอาณาจักร มีเพียง 4% และ 1% ของกลุ่ม ประชาชนยากจนที่สุดนี้เท่านั้นที่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง สรุปให้ง่ายๆ นั่นคือต่อให้ยากจนแค่ไหน การมีที่อยู่อาศัย เป็นของตนเองก็ยังเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้มากกว่าในจีนและอินเดีย

4. ชาวภารตส่วนใหญ่ (55.8%) ก่อหนี้ในรูปแบบที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์คํ้าประกัน อาทิ หนี้บัตรเครดิต หนี้เงินกู้ส่วนบุคคล หนี้เพื่อการบริโภค เช่นเดียวกับในกรณีของประเทศไทยที่ 70% ของผู้กู้เงินเป็นลูกหนี้ในกลุ่มเดียวกันนี้ เทียบกับจีนที่ระดับ 26.3% สหรัฐอเมริกาที่ 12.7% และสหราชอาณาจักรที่ 9.8%

5. ในผลการศึกษาของ RBI ครัวเรือนอินเดียส่วนมากใช้การเป็นหนี้เพื่อเป็นทางออกในยามฉุกเฉินเมื่อต้องมีรายจ่ายก้อนใหญ่และไม่มีเงินเก็บมาจ่ายได้ เช่น ในกรณีเจ็บป่วย กรณีซ่อมแซมบ้านเรือน หรือชดเชยรายได้จากความเสียหายที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดภัยธรรมชาติ แน่นอนว่าอัตราดอกเบี้ยของหนี้ประเภทดังกล่าวมีอัตราที่สูงมาก นั่นยิ่งทำให้พวกเขาต้องสะสมความมั่งคั่งในรูปแบบของที่ดิน ที่อยู่อาศัย และทองคำ เพื่อจะทำให้เขาสามารถใช้สินทรัพย์เหล่านี้เป็นหลักทรัพย์คํ้าประกันได้เมื่อเกิดความต้องการเงินกู้ในครั้งต่อไป ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ก็เป็นพฤติกรรมเหมือนกับคนไทยส่วนใหญ่เช่นเดียวกัน

6. ครอบครัวไทยและครอบครัวอินเดียส่วนใหญ่เป็นหนี้ก้อนเล็กในช่วงวัยรุ่น และสร้างหนี้ก้อนใหญ่ในช่วงปลายของชีวิตการทำงาน ซึ่งแตกต่างจากในโลกตะวันตกที่คนส่วนใหญ่เป็นหนี้ในช่วงกลางคนและหมดหนี้ก่อนเกษียณอายุการทำงานหรือก่อนออกจากตลาดแรงงาน แต่ในไทยและในอินเดีย แม้เกษียณอายุแล้ว แม้จะไม่มีรายได้แล้ว แต่พวกเราก็ยังเป็นหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลกันอยู่ เช่น คนอินเดียอายุเกินกว่า 65 ปี มีภาระจ่ายหนี้เงินกู้ เพื่อที่อยู่อาศัยสูงถึง 31% ของความมั่งคั่ง เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่มีการปล่อยสินเชื่อที่มีอายุสัญญาเกินกว่า 30 ปีให้กับผู้กู้ที่มีอายุเกินกว่า 30 ปี นั่นหมายความว่าถึงแม้เขาเกษียณอายุไปแล้ว พวกเขายังต้องชำระหนี้ต่อไป ในขณะที่ภาระหนี้ของผู้มีอายุเกินกว่า 55 ปีในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และเยอรมนีลดลงจนเกือบไม่มีภาระหนี้

7. ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ และ คุณอัจจนา ลํ่าซำ จาก สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ ยังให้คำแนะนำด้วยว่า กลุ่มผู้กู้ที่ควรจับตามองคือ ผู้กู้ที่มีอายุน้อยและวัยหลังเกษียณ เนื่อง จากมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียสูงกว่าช่วงอายุอื่น และสัดส่วนของผู้กู้ที่มีหนี้เสียจะยิ่งสูงขึ้นในกลุ่มผู้กู้ที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลหลายสัญญา โดยในผู้กู้กลุ่มที่มีสินเชื่อส่วนบุคคลมากกว่า 5 สัญญา มากกว่า 30% ของกลุ่มที่มีอายุน้อย และเกือบ 35% ของกลุ่มวัยหลังเกษียณจะมีหนี้เสีย

8. เมื่อคิดต่อยอดจากปรากฏการณ์ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น นั่นหมาย ความว่า วัฒนธรรมการมอบมรดก โดยเฉพาะการมอบบ้าน ที่ดิน แก้วแหวนเงินทองให้กับลูกหลาน น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ครอบครัวไทยและครอบครัวอินเดียมีพฤติกรรมการเป็นหนี้ในลักษณะดังกล่าว นั่นคือ เป็นหนี้ Mortgage Loans ในมูลค่าที่สูงและยังมีภาระต้องจ่ายหนี้ก้อนนี้จนแก่เฒ่า ทั้งไทยและอินเดียนิยมสะสมความมั่งคั่งในรูปแบบของที่ดิน บ้าน และทองคำ

9. ถ้าจะให้หาเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ในการอธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าว เราอาจจะต้องกลับมาพิจารณาปัจจัยร่วมของไทยและอินเดีย นั่นคือ ต่างเป็นประเทศที่มีระบบสวัสดิการในการดูแลผู้สูงอายุที่ไม่ดีนัก เมื่อเปรียบเทียบประเทศตะวันตกที่มีระบบสวัสดิการผู้สูงอายุที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แนว คิดของ Family Economics ในเรื่องของแรงจูงใจด้วยมรดกที่ทำให้ลูกหลานเลี้ยงดูพ่อแม่ของตน (Bequest Motive) อาจจะเป็นคำตอบของพฤติกรรมเหล่านี้ได้

เพราะในทั้ง 2 ประเทศ ประชาชนจำนวนมากวางแผนการเงินหลังเกษียณโดยฝากความหวังไว้กับการดูแลของลูกหลาน ดังนั้นเมื่อพิจารณาในเรื่องของการเตรียมมรดกไว้ให้กับลูกหลาน ประกอบกับแนวคิดทางศาสนาไม่ว่าจะเป็นพระพุทธศาสนาที่สอนเรื่องกตัญญูกตเวที และหลักธรรมของผู้ครองเรือนฆราวาสธรรม 4 และศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่ก็กล่าวถึงการปฏิบัติตนตามหลักอาศรม 4 โดยเฉพาะในช่วงกลางและปลายของชีวิตที่เรียกว่า วานปรัสย์ และสันนยาสะ ที่ต่างก็กล่าวถึงการที่ผู้ใหญ่เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรเป็นที่พึ่งของลูกหลาน และลูกหลานก็ดูแลตอบแทน พฤติกรรมทางการเงินก็สะท้อนเรื่องราวทางสังคมและวัฒนธรรมเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

10. เมื่อประชากรในไทย อินเดีย และจีน มีโครงสร้างรูปแบบการเป็นหนี้ที่มีสัดส่วนใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับ รายได้ และภาระการใช้หนี้ก็มากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ ในขณะเดียวกันก็มีระยะเวลาในการผ่อนชำระที่ยาวนานขึ้น เหล่านี้ทำให้พวกเขาเหลือส่วนเกิน (Surplus) ระหว่างรายได้และรายจ่ายลดลงหรือแทบจะไม่เหลืออีกต่อไป ในอดีตเงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยอาจจะมีระยะเวลาเพียง 15 ปี นั่นหมายความว่าถ้าเริ่มสร้างบ้านตอนอายุ 20 ปี เขาจะใช้หนี้หมดเมื่ออายุ 45 ปี และมีบ้านอยู่อาศัยจนแก่เฒ่าและกลายเป็นมรดกต่อไป รวมทั้งรายได้หลังอายุ 45 ปีก็จะสามารถนำไปใช้จ่ายในสิ่งต่างๆ ได้

แต่ในปัจจุบันกว่าจะเรียนจบก็อายุเกือบ 30 ปี เป็นหนี้เงินกู้สร้างบ้านไปจนหลังเกษียณ นั่นหมายความว่าต่อให้เศรษฐกิจจะโตในภาพรวม รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีอาจจะปรับตัวสูงขึ้น แต่เมื่อไม่มี surplus เหลือ เพราะยังมีภาระหนี้ก้อนใหญ่ และจะเป็นหนี้ไปจนแก่ ปัญหาเดิมๆ ที่ว่า “เศรษฐกิจดีจริงหรือ? ทำไมพ่อค้าแม่ค้าในตลาดนัดนั่งตบยุง ทำไมขายของไม่ค่อยออกล่ะ?” ก็ยังคงจะเกิดขึ้นต่อไป และนั่นก็หมายความว่ารายได้ของประเทศที่ขยายตัวก็ยังคงยิ่งกระจุกตัวอยู่กับ สถาบันการเงิน อสังหาริมทรัพย์ยานยนต์ และผู้ประกอบการรายใหญ่ต่อไป โดยที่พ่อค้าแม่ค้าตามตลาดนัดก็จะยังคงนั่งตบยุงกันต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,296 วันที่ 14 - 16 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1