จีนแห่ปักฐาน‘นิคมหลักชัย’ ธุรกิจต่อเนื่องยางพาราลงทุนร่วม4หมื่นล้าน-ขยับเฟส2รับ

16 ก.ย. 2560 | 09:37 น.
ธุรกิจต่อเนื่องยางพาราบูม แห่ปักฐานในนิคมหลักชัยที่ระยองแล้วกว่า 4 หมื่นล้านบาท “หลักชัย” มั่นใจปีหน้าสดใสรับต่างชาติแห่ลงอีอีซีครั้งใหญ่ หลังมีพ.ร.บ.รองรับ ขยับเตรียมลงทุนเฟส 2 รับกลุ่มอุตสาห กรรมไฮเทคยุค 4.0

นายหลักชัย กิตติพล ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารบริษัท ไทยเบคก้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมหลักชัยเมืองยาง อ.เมือง จ.ระยอง เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้นิคมฯหลักชัยเมืองยางในเฟสแรกที่ได้พัฒนาพื้นที่แล้ว 1,500 ไร่ มีนักลงทุนจากจีนเข้ามาลงทุนแล้ว 5 ราย พื้นที่รวมกว่า 700 ไร่ เงินลงทุนรวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ 3 ราย ผู้ผลิตที่นอน และหมอนจากยางพารา 1 ราย และผู้ผลิตไอนํ้าอีก 1 ราย

[caption id="attachment_207304" align="aligncenter" width="503"] หลักชัย กิตติพล ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารบริษัท ไทยเบคก้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด หลักชัย กิตติพล ประธานเจ้าหน้าที่ผู้บริหารบริษัท ไทยเบคก้า เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด[/caption]

ประกอบด้วย 1. บริษัทเซ็นจูรี่ไทร์ (ประเทศไทย)จำกัด (บจก.) ลงทุนตั้งโรงงานผลิตยางรถเก๋งและยางรถบรรทุก กำลังผลิต 12 ล้านเส้นต่อปี ใช้เงินลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านบาท ผลิตและส่งออกแล้วตั้งแต่ปี 2558 2.บจก.เจ เอส วาย ลาเท็กซ์ โปรดักส์ (ประเทศไทย) ผลิตที่นอนและหมอนจากยางพารา ลงทุนเฟสแรก 500 ล้านบาท ได้ผลิตส่งออกแล้ว ไปจีนสัดส่วน 50-60% ที่เหลือไปยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน อาเซียน และจำหน่ายในไทย โดยเจ เอส วายอยู่ระหว่างขยายการลงทุนในเฟส 2 อีก 500 ล้านบาท

3.หวาอี้ กรุ๊ป ผู้ผลิตยางรถยนต์อันดับ 1 ของจีน ที่ได้ดึงทางไทยเบคก้า ถือหุ้น 15% ลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาทเพื่อผลิตยางรถ 6 ล้อ 10 ล้อ ยางรถบัส และยางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เป้าหมายกำลังผลิต 2 ล้านเส้นต่อปี ส่งออก 99% ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างการทดลองเดินเครื่องจักร จะเริ่มผลิตและส่งออกในปีนี้ 4. บจก.LK Energy ผลิตไอนํ้า(ใช้ในการนึ่งผลิตภัณฑ์ยางพาราให้สุก) ป้อนให้กับโรงงานแปรรูปยางในนิคม ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท คาดโรงงานจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนปีหน้า

5.ต้าตี้กรุ๊ป อีกหนึ่งในผู้ผลิตยางรถยนต์รายใหญ่ของจีนในแบรนด์ “เสินโจว” ได้ตัดสินใจเตรียมลงทุนในเฟสแรกมูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาทเพื่อผลิตยางรถ 10 ล้อ รถบัส รวมถึงยางรถเก๋งรวมกำลังผลิต 8.4 ล้านเส้นต่อปี และในอนาคตมีแผนจะลงทุนในเฟส 2 เพื่อเพิ่มกำลังผลิตอีกเท่าตัว ล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดของโครงการ รวมทั้งการขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ คาดเดือนตุลาคมนี้จะเริ่มก่อสร้างและจะผลิตสินค้าจำหน่ายได้ในเดือนตุลาคมปีหน้า เป้าหมายขายในไทย 20% และส่งออก 80%

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 “ทั้ง 4-5 รายที่กล่าวมา จะใช้เงินลงทุนรวมกันราว 4 หมื่นล้านบาทในเบื้องต้น ซึ่งในปีหน้าจะช่วยเพิ่มการใช้ยางในประเทศ 2.5 แสนตัน (ยางแท่ง ยางแผ่น นํ้ายาง) จากเป้าหมายของเราที่ 1 ล้านตันใน 5 ปี ดังนั้นยังต้องหาลูกค้าเพื่อใช้ยางเพิ่มอีก 7.5 แสนตัน ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจาอีก 3-4 รายจากจีนซึ่งยังอยู่ในกลุ่มยางรถยนต์ พวกเขม่าดำ(คาร์บอนแบล็ก) เส้นลวดยางรถยนต์ กลุ่มโลจิสติกส์และแวร์เฮาส์”

นายหลักชัย ยอมรับว่าการดึงการลงทุนจากจีนในกลุ่มยางรถยนต์นับจากนี้คงชะลอตัวลง เพราะรายใหญ่ที่มีศักยภาพก็ออกมาเกือบหมดแล้ว ขณะที่เวลานี้รัฐบาลจีนมีความเข้มงวดในการนำเงินออกมาลงทุนในต่างประเทศ ดังนั้นเป้าหมายลูกค้าของบริษัทคงต้องเบนเข็มไปทางญี่ปุ่น อินเดีย ยุโรป และอเมริกา รวมถึงอาเซียนให้มากขึ้น ทั้งนี้คาดการลงทุนในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) จะมีความคึกคักมากขึ้นในปีหน้า ซึ่งอยากให้รัฐบาลได้เร่งออก พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออกเพื่อสร้างความชัดเจนด้านต่างๆ โดยเร็วเพื่อการตัดสินใจของนักลงทุน

“หากพื้นที่อีก 800 ไร่ขายหมด บริษัทมีแผนจะพัฒนาในเฟสที่ 2 ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมพื้นที่แต่ปัญหาเวลานี้คือที่ดินราคาแพงมาก จาก 4-5 ปีก่อน 4-5 หมื่นบาทต่อไร่ ปัจจุบันหลัก 4-5 แสนบาทต่อไร่ ในเฟสที่ 2 คงเปิดให้อุตสาหกรรมทั่วไปในยุค 4.0 ที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนคงไม่จำกัดแค่อุตสาหกรรมแปรรูปยาง”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,296 วันที่ 14 - 16 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1