BakeryMindเพิ่มช่องขาย ดันรายได้ไต่สู่ตัวเลขเดือนละ7หลัก

15 ก.ย. 2560 | 14:10 น.
เบเกอรี่แบรนด์ Bakery Mind เล็งต่อยอดธุรกิจสร้างรายได้ ระบุเพิ่มจุดขายในห้างอีก 4 แห่งในปีนี้ พร้อมขยายจำนวนแฟรนไชส์ให้ได้ 50 จังหวัด เชื่อดันรายได้โต 7 หลักต่อเดือน ชี้ภาพธุรกิจในอนาคตต้องการเป็นของฝากของแต่ละจังหวัด

TP13-3296-A นางสาวเสน่หา ชูสันติ เจ้าของธุรกิจร้านเบเกอรี่แบรนด์ “Bakery Mind” ผู้สร้างปรากฏ การณ์แชร์สนั่นบนโลกโซเชียลมีเดียด้วยผลิตภัณฑ์ “เค้กมะพร้าวไส้แตก” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แผนในการขยายธุรกิจระยะต่อไปจะดำเนินการเรื่องของการเพิ่มจุดจำหน่ายภายในห้างสรรพสินค้าอีก 4 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัลพระราม 3 , เซ็นทรัลปิ่นเกล้า, เทอร์มินอล 21 และห้างสรรรพสินค้าอีก 1 แห่งย่านบางนา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จได้ภายในปีนี้ จากเดิมที่มีจุดจำหน่ายอยู่ที่ราษฎร์บูรณะ 29, เซ็นทรัล เวสต์เกต, เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ และเดอะมอลล์ บางกะปิ เพื่อให้ สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ยังจะดำเนินการเรื่องการเพิ่มจำนวนธุรกิจในรูปแบบของแฟรนไชส์อีก 30 จังหวัด ให้เป็น 50 แห่ง ตามคอนเซ็ปต์ของร้านที่จะให้มีการเปิดธุรกิจแฟรนไชส์ได้จังหวัดละ 1 แห่งเท่านั้น จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 20 จังหวัด ได้แก่ ระยอง, ชลบุรี, ฉะเชิงเทรา, สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เป็นต้น โดยจากกลยุทธ์ดังกล่าวเหล่านี้เชื่อว่าจะทำให้รายได้ในปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปสู่ตัวเลข 7 หลักต่อเดือนได้ หลังจากในปีที่ผ่านมา Bakery Mind มีรายได้ต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ3-4 แสนบาท

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 “ช่องทางการจำหน่ายของ Bakery Mind เลือกใช้รูปแบบของการซื้อกลับบ้าน (Take-home) เป็นหลัก เนื่องจากมองว่าการจำหน่ายในรูปแบบดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มประมาณการขายได้มากกว่าการให้ลูกค้านั่งรับประทานที่ร้าน เพราะจะเกิดการซื้อฝาก ผสมผสานควบคู่ไปกับช่องทางด้านออนไลน์ ทำให้ฐานลูกค้าของ Bakery Mind ขยายอย่างรวดเร็วทั้งในกระแสของโลกโซเชี่ยล และการบอกต่อของลูกค้าแบบปากต่อปาก”

นางสาวเสน่หา กล่าวต่อไปอีกว่า การที่เลือกต่อยอดธุรกิจในรูปแบบของแฟรนไชส์ก็เพราะต้องการให้ผู้ที่ทำธุรกิจได้มีส่วนร่วมในการสร้างการเติบโต อีกทั้งในเรื่องของความใส่ใจก็จะมีมากกว่าการเป็นตัวแทนจำหน่าย โดยทางร้านจะควบคุมคุณภาพด้วยการส่งวัตถุดิบหลักที่ใช้ในกระบวนการผลิตไปให้ เพื่อให้ได้ความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์ที่จะส่งต่อให้กับผู้บริโภค ซึ่งก่อนที่จะเปิดสาขาได้ทางร้านก็จะมีการสอนวิธี และกระบวนการผลิตเค้กแต่ละชนิดให้กับลูกค้า เพื่อนำไปใช้ในการเปิดร้าน

[caption id="attachment_207248" align="aligncenter" width="378"] เสน่หา ชูสันติ เจ้าของธุรกิจร้านเบเกอรี่แบรนด์ “Bakery Mind เสน่หา ชูสันติ เจ้าของธุรกิจร้านเบเกอรี่แบรนด์ “Bakery Mind[/caption]

“เราจะค่อนข้างพิถีพิถันในการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบของแฟรนไชส์อย่างมาก โดยจะต้องมีการสอบถามถึงวิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจว่าอยากทำด้วยเหตุผลใดมีใจรักในการบริการหรือไม่ หรือต้องการเพียงแค่ผลกำไรเป็นการตอบแทนเท่านั้น เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้แบรนด์มีการเติบโตได้

ด้านจุดเด่นของ Bakery Mind อยู่ที่การเลือกใส่ไอเดียลงไปในผลิตภัณฑ์ เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่แปลกตา ซึ่งเปรียบเสมือนการปูพรมแดงให้ลูกค้าได้เดินผ่านแวะเข้ามา หลังจากนั้นเมื่อได้ลิ้มลองรสชาติก็จะเกิดการแนะนำแบบปากต่อปาก และเกิดการซื้อฝาก ด้วยจุดเด่นอีกด้านหนึ่งในเรื่องของรสชาติที่มีการปรับให้เหมาะกับรสนิยมการรับประทานของผู้บริโภคชาวไทยมากที่สุด และวัตถุดิบที่ผ่านการคัดสรรมาเป็นอย่างดี โดยปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอย่างเค้กมะพร้าวไส้แตก กะลาเค้กและเครปพัฟไส้มะพร้าวครีมสด เป็นต้น

อย่างไรก็ดี สำหรับภาพของธุรกิจในอนาคตของ Bakery Mind นั้น ต้องการให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รับรู้ของแต่ละจังหวัดว่าหากเดินทางมาท่องเที่ยวแล้วจะต้องซื้อผลิตภัณฑ์ของ Bakery Mind กลับไปเป็นของฝาก เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดมาจากจิตวิญญาณแห่งความตั้งใจบนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเสิร์ฟขนมสดใหม่ และคุณภาพเกินราคาให้กับผู้บริโภค

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,296 วันที่ 14 - 16 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1