ตลาดยานยนต์อีวีขยับตัวแรง หลังรัฐบาลจีนส่งสัญญาณเลิก‘รถใช้น้ำมัน’

18 ก.ย. 2560 | 23:10 น.
จีนเป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ขนาดใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสนับสนุนอย่างเต็มที่ ดังนั้น เมื่อรัฐบาลจีนประกาศร่วมอุดมการณ์เดียวกันกับฝรั่งเศสและอังกฤษในการกำหนดเส้นตายให้กับการจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้เครื่อง ยนต์สันดาปภายใน จึงเป็นการส่งสัญญาณว่าจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมยานยนต์โลกนั้นใกล้เข้ามาทุกทีแล้ว

ขณะนี้หน่วยงานรัฐบาลนำโดยกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนกำลังอยู่ในกระบวนการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ภายในประเทศ เพื่อร่วมกันกำหนดแผนการยกเลิกการจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายในซึ่งมักใช้นํ้ามันปิโตรเลียมหรือก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งนั่นหมายถึงการเร่งเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของจีนเองที่มีผู้ผลิตรายใหญ่และแข็งแกร่งอย่าง บีวายดี และ บีเอไอซี มอเตอร์ คอร์ป. เป็นหัวหอก ขณะเดียวกันยังเป็นสัญญาณเตือนภัยไปยังบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติที่มุ่งหวังช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในจีน ให้ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และเทคโนโลยียานยนต์ให้สอดรับกับนโยบายของจีนด้วย

นายซิน กั๊วปิง รัฐมนตรีอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของจีนให้เหตุผลในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเนื่องจากจีนได้ปฏิญาณร่วมลดการสร้างก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 เช่นเดียวกับนานาประเทศที่ร่วมลงนามในข้อตกลงปารีสตามกรอบของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ จีนเองยังเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งเกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนของโรงงานอุตสาหกรรมและไอเสียรถยนต์ ก่อนหน้านี้ ประเทศผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปอย่างฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนี ต่างประกาศแผนลดและเลิกการจำหน่ายรถยนต์ใหม่ที่ใช้เครื่องดีเซลและเครื่องยนต์สันดาปภายในไปแล้วเป็นลำดับ ญี่ปุ่นเองก็มีแผนลดสัดส่วนรถที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและเพิ่มจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าบนท้องถนนโดยมีปี 2020 และ 2030 เป็นเป้าหมายเช่นกัน

TP10-3296-A “สำหรับตลาดรถยนต์ขนาดใหญ่อย่างจีน การห้ามจำหน่ายรถยนต์เครื่องสันดาปภายในน่าจะเกิดขึ้นได้หลังปี 2040 ซึ่งนั่นจะทำให้ทุกๆ ฝ่ายมีเวลาเพียงพอที่จะเตรียมตัว” หลิว จี้เจีย รองผู้จัดการทั่วไปบริษัทเชอรี ออโตโมบิล ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่และเป็นผู้ส่งออกรถยนต์นั่งส่วนบุคคลรายใหญ่ที่สุดของจีนระบุ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เชอรี ออโตโมบิลฯ เพิ่งนำรถปลั๊กอิน-ไฮบริด และรถไฟฟ้า (อีวี) รุ่นใหม่ที่มีสมรรถนะสูงขึ้น ไปเปิดตัวในงานแฟรงก์เฟิร์ต มอเตอร์ โชว์ ที่ประเทศเยอรมนี

แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้หุ้นของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าของจีนซึ่งมีบีวายดีเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด พุ่งขึ้น 7.2% เมื่อต้นสัปดาห์ ขณะที่หุ้นของคู่แข่งอย่าง บีเอไอซี ก็ปรับตัวขึ้นเช่นกันที่ 2.9% อานิสงส์ยังส่งถึงบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง อย่างกั๊วซาน ไฮ-เทค ที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า หุ้นของบริษัทที่ซื้อขายในตลาดเสิ่นเจิ้นปรับสูงขึ้นถึง 5.3% นโยบายอุดหนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลจีน ทำให้ผู้ผลิตในท้องถิ่นมีแต้มต่อและอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ เมื่อเทียบกับบริษัทรถยนต์ต่างชาติที่มุ่งหวังนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาบุกตลาดจีน ไม่ว่าจะเป็น เทสลา ยักษ์ใหญ่ จากสหรัฐอเมริกา หรือนิสสัน มอเตอร์ จากญี่ปุ่น

ข้อมูลจากสมาคมรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจีน (ซีพีซีเอ) ชี้ว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ บีวายดี (เป็นบริษัทจีน แต่ก็มีนายวอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีอเมริกาเป็นผู้ถือหุ้น) ทำยอดขายรถอีวีและปลั๊กอิน-ไฮบริดจำนวนรวม 46,855 คัน ขณะที่บริษัท ปักกิ่ง อิเล็กทริก วิฮิเคิลฯ ซึ่งเป็นฝ่ายธุรกิจรถอีวีของบริษัท บีเอไอซีฯ ตามมาเป็นที่ 2 ด้วยยอดขาย 36,084 คัน เทียบกับยอดขายของคู่แข่งจากต่างประเทศถือว่าผู้ผลิตของจีนนั้นทิ้งห่าง ยกตัวอย่างบริษัท เจเนอรัล มอเตอร์สฯ (จีเอ็ม) ทำยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีนได้เพียง 738 คัน หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.04% ของยอดขายรวม 2.1 ล้านคัน (เฉพาะของจีเอ็ม) ในตลาดจีน (ช่วง 7 เดือนแรกของปี 2560)

สำหรับจีนเองนั้น การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศยังมีเป้าหมายอื่นๆนอกเหนือจากเรื่องสิ่งแวดล้อม รัฐบาลจีนยอมทุ่มเงินอุดหนุนบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพราะเชื่อว่าจะสามารถประหยัดต้นทุนการนำเข้านํ้ามันเชื้อเพลิง

บริษัทรถยนต์ต่างชาติหลายราย รวมทั้งฮอนด้า มอเตอร์ ปรับกลยุทธ์รับมือการเปลี่ยนแปลงด้วยการเข้ามาร่วมพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีน และจะนำรถอีวีของบริษัทเข้าตลาดจีนในปีหน้า นอกจากนี้ ฮอนด้ายังจะผลิตรถไฟฟ้าที่ร่วมพัฒนากับบริษัทท้องถิ่นภายใต้แบรนด์ใหม่อีกด้วย

นอกเหนือจากบริษัทรถยนต์ทั้งของจีนเองและของบริษัทต่างชาติซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว กระแสของยานยนต์ไฟฟ้ายังเปิดโอกาสให้กับผู้เล่นหน้าใหม่ในแวดวงเทคโนโลยี รวมทั้งบริษัทสตาร์ต อัพอย่างรถ ES8 ของนายวิลเลี่ยม ลี ผู้ประกอบการจากแวดวงอินเตอร์เน็ต รถดังกล่าวใช้แบตเตอรี่ไฟฟ้า 100% และจะเปิดตัวกลางเดือนธันวาคมนี้ ด้านเทสลา ผู้เล่นรายใหญ่จากสหรัฐฯ ตระหนักถึงความสำคัญของตลาดจีนเช่นกัน บริษัทกำลังเจรจากับรัฐบาลท้องถิ่นในเซี่ยงไฮ้ แสวงหาลู่ทางที่จะเข้าถึงแหล่งผลิตในจีน ซึ่งหากทำได้ก็จะช่วยให้บริษัทได้ประโยชน์จากการผลิตในปริมาณมาก ต้นทุนผลิตจะลดลง และประหยัดค่าขนส่งอีกด้วย กระนั้นก็ตาม นักวิเคราะห์เชื่อว่า กระบวนการยกเลิกการจำหน่ายรถเครื่องยนต์สันดาปภายในจีนยังคงต้องใช้เวลาเพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถปรับตัวรับกับการเปลี่ยนแปลง แต่อย่างน้อยการประกาศนโยบายออกมาครั้งล่าสุดนี้ ก็เป็นการกำหนดแนวทางที่ชัดเจนให้กับบรรดาบริษัทผู้ผลิตรถยนต์

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,296 วันที่ 14 - 16 กันยายน พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว