“ญี่ปุ่น” ...อันดับ 1 นักลงทุนรายใหญ่ในไทย

13 ก.ย. 2560 | 03:05 น.
“นักลงทุนญี่ปุ่น” นับเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มียอดเงินลงทุนสะสมคงค้างกว่า 2.4 ล้านล้านบาท

ตามรายงานของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ณ ไตรมาสแรก ของปีนี้ มียอดเงินลงทุนโดยตรงของ “นักลงทุนญี่ปุ่น” ในไทย คงค้าง ณ วันที่ 30 มิ.ย. 2560 จำนวน 75,311.03 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ ตามลำดับ

ขณะที่ ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ระบุว่า “นักลงทุนญี่ปุ่น” ยังคงเป็นนักลงทุนที่ลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 1 มียอดเงินลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2559 จำนวน 57,466 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ สิงคโปร์ 37,228 ล้านบาท และ จีน 32,537 ล้านบาท

เช่นเดียวกับ ในครึ่งปีแรกของปีนี้ คือ ตั้งแต่เดือน ม.ค. - มิ.ย. มีการยื่นรับการส่งเสริมของโครงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 371 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 119,029 ล้านบาท โดย “นักลงทุนญี่ปุ่น” ยังเป็นประเทศที่มีปริมาณเงินลงทุนในการยื่นขอส่งเสริมสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 55 ของมูลค่าการลงทุนจากต่างชาติทั้งหมด ซึ่งมีการขอรับการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ อาทิ กิจการผลิตรถยนต์ไฮบริจด์ มูลค่า 19,547 ล้านบาท, การผลิตผลิตภัณฑ์พอลิเมอร์ชนิดพิเศษ หรือ เคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ มูลค่า 15,182 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังลงทุนในการผลิตรถยนต์, การผลิตตัวยึดจับฮาร์ดดิสก์ และการผลิตผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูป อีกด้วย

 

D4S_7556

 

สำหรับการเดินทางมาเยือนไทยของคณะนักธุรกิจญี่ปุ่น ที่นำโดย รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) มีจำนวนกว่า 570 บริษัท ถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา นอกจากนี้ จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ 7 ฉบับ คือ

1.สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น หรือ เคดันเรน กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, หอการค้าไทย กับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (JCCI) เพื่อร่วมกันรวมถึงความร่วมมือในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 แห่ง ในประเทศไทย (ไทยแลนด์ 4.0) และความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นในประเทศไทยและญี่ปุ่น อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้า การตลาด และเศรษฐกิจ, การเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าบริการระหว่างกัน และการให้ความช่วยเหลือ/การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศ ที่มีมาตรฐานสากล

2.สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า)
3.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับสถานทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ภายใต้แนวคิดความร่วมมือทางไกลระหว่างมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นกับนักลงทุนไทย
4.นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครกับ บริษัท ฮิตาชิ
5.กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร
6.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับองค์การสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศญี่ปุ่น
7.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและ บริษัท JC Service

 

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว