ทีจีรุกออนไลน์ปั๊มรายได้สิ้นปีทะลุ1.9 แสนล้าน

16 ก.ย. 2560 | 08:48 น.
บิ๊กบินไทยมั่นใจปั๊มรายได้ปีนี้แตะ 1.9 แสนล้าน โฟกัสขายตั๋วผ่านออนไลน์เพิ่ม 30% เล็งชำระเงินผ่านคิวอาร์โค้ด พร้อมชงแผนซื้อฝูงบินใหม่ 28 ลำเข้าครม.ธ.ค.นี้

นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(ดีดี) และรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากการดำเนินการตามแผนปฏิรูปองค์กร ที่เข้าสู่ระยะ 3 คือ ทำให้การบินไทย กลับมาเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจากการติดตามตัวเลขล่าสุด ทำให้มั่นใจว่าในปีนี้จะสามารถขับเคลื่อนรายได้อยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาทตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยแบ่งเป็นรายได้จากการขายตั๋วเครื่องบินราว 1.5 แสนบาท และรายได้จากบิสิเนส ยูนิตต่างๆ รวมกันอยู่ที่ราว 4 หมื่นล้านบาท

[caption id="attachment_207206" align="aligncenter" width="503"] อุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(ดีดี) อุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่(ดีดี)[/caption]

“ขณะนี้เรารู้ว่าจุดอ่อนอยู่ตรงไหนก็จะเร่งเข้าไปแก้ไข เพื่อให้มีเงินเข้ามาก่อน ดังนั้นการบินไทยจึงโฟกัสการเพิ่มรายได้เป็นสำคัญ โดยการบริหารการขาย เพื่อปรับอัตราผลตอบแทนหรือกำไรต่อที่นั่ง (Yield) ให้ได้ดีที่สุด ซึ่งต้องรู้ว่าจุดคุ้มทุนอยู่ตรงไหน ไม่ใช่ขายได้เต็มลำ แต่ราคาถูกก็ไม่ใช่ เพราะมีค่าใช้จ่ายในการขายด้วยเช่นกัน”

รักษาการดีดี ยังกล่าวอีกว่า ตอนนี้จึงใช้หลักสถิติเข้า ไปดูตามโซนที่ขาย เพื่อขายให้พอดีจุดคุ้มทุน หรือเกินเล็กน้อยเพื่อให้ผู้โดยสารรู้สึกนั่งสบาย และจากการนำระบบเรเวนิว แมเนจเมนต์ มาใช้ทำให้การปรับเปลี่ยนราคาขายทำได้ภายใน 1 วัน ขณะเดียวกันมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางบินใหม่ให้เหมาะสม จุดบินเมืองไหนมีศักยภาพ ไม่ขาดทุน เช่น บรัสเซลส์,โอกแลนด์ ก็ต้องไปเพิ่มYield ด้วยการปรับเส้นทางบินเป็นบินทุกวัน เป็นต้น

ส่วนกลยุทธ์การเพิ่มรายได้ การบินไทย ยังเน้นขยายฐานรายได้การขายตั๋วผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งวางเป้าหมายในปีนี้อยู่ที่ 24-25% หรือราว 3.5 หมื่นล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 5% ขยับขึ้นมาเป็น 20% และจะเพิ่มเป็น 30% ในปีหน้า เนื่องจากการขายผ่านทางออนไลน์ ผู้โดยสารเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวเดินทางเที่ยวด้วยตัวเอง (เอฟไอที) จะได้ราคาตั๋วที่แพงกว่า ไม่ต้องเสีย ค่าคอมมิสชันสูงเหมือนกับการขายตั๋วเป็นกรุ๊ปผ่านทราเวล เอเยนต์

ดังนั้นเมื่อไม่นานมานี้นอกจากการบินไทยจะร่วมมือกับอาลีทริป (Alitrip) ในเครืออาลีบาบา ในการเปิด Online Flagship Store จำหน่ายขายตั๋วออนไลน์บนแพลตฟอร์มซื้อขายออนไลน์ของอาลีทริป เพื่อเจาะตลาดจีน ซึ่งประชากรกว่า 1,300 ล้านคน มีการใช้งานในระบบดิจิตอลกว่า 600 ล้านคนแล้ว และยังมีแผนขยายช่องทางการขายออนไลน์ ในลักษณะเดียวกันนี้บนแพลต ฟอร์มอื่นๆ ครอบคลุมลูกค้าในทุกประเทศให้ได้มากที่สุด อาทิ การหารือร่วมกับเอ็กซ์พีเดีย เพื่อเจาะตลาดยุโรป เป็นต้น เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้ช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ในตลาดต่างประเทศจึงขายตั๋วผ่านเอเยนต์น้อยลง อีกทั้งยังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพัฒนาระบบชำระเงินผ่านทางคิวอาร์ โค้ด ได้ด้วย เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน

นางอุษณีย์ กล่าวถึงความคืบหน้าแผนการจัดหาเครื่องบินใหม่ 28 ลำ เพื่อทดแทนเครื่องบินเก่าจะปลดระวางว่าหลังบอร์ดได้เห็นชอบในหลักการแล้ว โดยจะแบ่งประเภทเครื่องบินเป็นแบบพิสัยไกล 17 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบ 2 ลำ และเครื่องบินของไทยสมายล์อีก 9 ลำซึ่งเป็นลำตัวแคบ และขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกเครื่องบินในรุ่นที่เหมาะสม โดยจะพิจารณาทั้งแอร์บัสและโบอิ้ง ซึ่งจะเน้นต้องเป็นเครื่องบิน นิวเจเนอเรชัน มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อให้การบินไทยมีโปรดักต์ที่ต่อสู่กับคู่แข่งได้ อย่างเครื่องบินพิสัยไกล กำลังพิจารณาทั้งแอร์บัส 350-1000 และโบอิ้ง 787-1000

“ต้องดูเรื่องของสถานะทางการเงินว่ารุ่นใดจะใช้วิธีเช่าดำเนินการหรือเช่าซื้อ ซึ่งจะมีการสรุปรุ่นของเครื่องบิน ในการประชุมบอร์ดวันที่ 20 กันยายนนี้ จากนั้นจะเสนอผ่านขั้นตอนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งคาดว่าน่าจะนำเสนอให้ครม.พิจารณาได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ จึงจะเริ่มกระบวนการจัดหาเครื่องบินใหม่ราวปีหน้า” รักษาการ ดีดีการบินไทย กล่าวในที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,296 วันที่ 14 - 16 กันยายน พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว