รมต.เศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม พัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

12 ก.ย. 2560 | 07:22 น.
การประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 20 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2560 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยปีนี้ครบรอบ 20 ปี กรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียน จีน ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี นับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญกับความร่วมมือภายใต้กรอบนี้และมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองและการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

[caption id="attachment_206894" align="aligncenter" width="503"] นางอภิรดี ตันตราภรณ์ นางอภิรดี ตันตราภรณ์[/caption]

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปี 2559 ปริมาณการค้าระหว่างอาเซียนและประเทศบวกสามสูงถึง 694 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 31 ของปริมาณการค้ารวมของอาเซียน การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มาจากประเทศบวกสาม มีมูลค่ากว่า 29 พันล้านเหรีญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 30 ของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมายังอาเซียน โดยจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลีต่างมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกอาเซียน ในการดำเนินการเพื่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค

ในการนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้รับทราบการดำเนินโครงการต่างๆ รวมถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศบวกสามในอนาคต อาทิ 1) ความร่วมมือระหว่างศูนย์อาเซียน-จีน ศูนย์อาเซียน-ญี่ปุ่น และศูนย์อาเซียน-เกาหลีใต้ ในการส่งเสริมและขยายการค้าระหว่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอาเซียน รวมถึงอำนวยความสะดวกทางการค้าของ MSMEs ในภูมิภาค 2) การศึกษาการเชื่อมโยงข้อมูลระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (Single Window) สำหรับอาเซียนกับประเทศบวกสาม และ 3) การวิจัยร่วมด้านความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานระหว่างอาเซียนกับประเทศบวกสาม เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถรายงานผลและเสนอผู้นำอาเซียนกับประเทศบวกสามให้ความเห็นชอบร่วมกันได้ ในเดือนพฤศจิกายนนี้

นอกจากนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนบวกสามได้รับทราบและหารือเกี่ยวกับข้อเสนอแนะจากสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก (East Asia Business Council: EABC) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) การส่งเสริมศักยภาพของ MSMEs และการมีส่วนร่วมในการจัดทำข้อเสนอแนะต่อการเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) โดยที่ผ่านมา มีการทำแบบสอบถามเกี่ยวกับการใช้ E-Commerce และพบว่ายังคงมีปัญหาเกี่ยวกับการขาดความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมและการชำระเงินระหว่างประเทศ จึงควรมีการเตรียมความพร้อมด้านกฎระเบียบการค้าข้ามพรมแดน พิธีการศุลกากร การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และระบบการชำระเงิน เป็นต้น ในการนี้ EABC ได้แจ้งประสงค์ที่จะเข้าร่วมการประชุมผู้นำอาเซียนกับประเทศบวกสามและนำเสนอประเด็นต่างๆ ด้วย