นักลงทุนญี่ปุ่นยกทัพ! พบนายกฯ ผลักดันการค้า ยกระดับ EEC

11 ก.ย. 2560 | 12:19 น.
กองทัพนักลงทุนญี่ปุ่นกว่า 570 คน เข้าพบนายกรัฐมนตรี มั่นใจ! เสถียรภาพเศรษฐกิจไทย พร้อมจับมือเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ เพื่อผลักดันการพัฒนาการค้า การลงทุน ยกระดับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทย

วันที่ 11 ก.ย. 60 -- นายฮิโรชิเกะ เซโกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น พร้อมด้วยหน่วยงานด้านเศรษฐกิจและคณะนักลงทุนรายใหญ่ 570 ราย เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสครบรอบความสัมพันธ์ 130 ปี ไทย-ญี่ปุ่น

 

D4S_7649

นายฮิโรชิเกะ กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน ทำให้มีบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นจำนวนมากเข้ามาตั้งโรงงานที่ไทย บางบริษัทมีเครื่องจักรที่ทันสมัยมากกว่าบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นด้วยซ้ำ ซึ่งญี่ปุ่นเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย และยุทธศาสตร์ “ไทยแลนด์ 4.0” และพร้อมจับมือร่วมกันในการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าและการลงทุน การพัฒนา 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายและการพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตลอดจนการยกระดับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (EEC) เพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ สอดรับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0” ของรัฐบาล

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จจนถึงวันนี้ ขอให้ญี่ปุ่นช่วยสนับสนุนเทคโนโลยีให้ไทยก้าวทันโลก พร้อมขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับประเทศไทย เชื่อว่า การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ จะช่วยยกระดับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกของไทย ให้เป็นแลนด์มาร์คของแหล่งอุตสาหกรรมที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย และขอให้นักลงทุนชาวญี่ปุ่นให้ความไว้วางใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งเมื่อไร รัฐบาลใหม่จะผลักดันอีอีซีต่อ เพราะเรื่องนี้ถูกบรรจุในกฎหมายและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

สำหรับการเดินทางมาเยือนประเทศไทยของคณะนักธุรกิจญี่ปุ่น ที่นำโดย รัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) มีจำนวนกว่า 570 บริษัท ถือว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมา นอกจากนี้ จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ 7 ฉบับ คือ

1.สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น หรือ เคดันเรน กับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย, หอการค้าไทยกับสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งญี่ปุ่น (JCCI) รวมถึงความร่วมมือในอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 แห่งในประเทศไทย (ไทยแลนด์ 4.0) และความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มุ่งเน้นในประเทศไทยและญี่ปุ่น อาทิ การแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าการตลาดและเศรษฐกิจ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าบริการระหว่างกัน การให้ความช่วยเหลือ/การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมของทั้ง 2 ประเทศที่มีมาตรฐานสากล

2.สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (สกรศ.) กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า)

 

515104
3.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกับสถานทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ภายใต้แนวคิดความร่วมมือทางไกลระหว่างมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นกับนักลงทุนไทย

4.นิคมอุตสาหกรรมอมตะนครกับบริษัท ฮิตาชิ

5.กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กับ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ เจโทร

6.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับ องค์การสนับสนุนอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศญี่ปุ่น

7.กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและ บริษัท JC Service

 

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว