“พาณิชย์” เจาะลึกยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีน

13 ก.ย. 2560 | 13:28 น.
“พาณิชย์” เจาะลึกยุทธศาสตร์ One Belt One Road ของจีน เตรียมผลักดันไทย ใช้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุนในภูมิภาค เชื่อมโยงจีนกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศได้จัดงานสัมมนาการค้าต่างประเทศ ซีรีส์ 3 “ล้วงลึกยุทธศาสตร์พญามังกรใหม่ ไทยได้อะไรจาก One Belt One Road” เนื่องในโอกาสครบรอบ 75 ปี แห่งการสถาปนากรมฯ ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญตลาดจีนอย่าง นายวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานสภาธุรกิจไทย-จีน มาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจตลาดจีน ถึงที่มาที่ไปของนโยบายดังกล่าว และโอกาสที่ไทยจะได้รับจากนโยบายนี้ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญตลาดจีนท่านอื่น ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่ให้เกียรติมาให้ความรู้และประสบการณ์ให้กับผู้เข้าร่วมงานที่สนใจมาเข้าร่วมงานกว่า 1,200 คน

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบาย One Belt One Road ของจีน กรมฯ มองว่า ไทยจะได้ประโยชน์ในการเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะไทยเป็นจุดศูนย์กลางของเส้นทางการค้า ทั้งทางบกและทางทะเล โดย “ทางทะเล” ไทยมีที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์อยู่ระหว่าง 2 มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ขณะที่ “ทางบก” ไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงจีนกับประเทศในอาเซียนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งทางถนนและรถไฟ

ปัจจุบัน จีนมีโครงการเชื่อมเส้นทางรถไฟจากเมืองคุนหมิง โดยมีปลายทาง คือ ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งได้ผ่านประเทศไทยและมีโครงการที่จะเข้ามาลงทุนใน จ.เชียงราย ที่จะใช้เป็นจุดเชื่อมต่อ โดยรถไฟสายหนึ่งจะมาสู่แหลมฉบับและในอนาคตจะก่อสร้างจนถึงประเทศสิงคโปร์ และรถไฟความเร็วสูงยังจะเชื่อมกับระเบียงเศรษฐกิจของประเทศจีน คือ แนวมะละแหม่ง ที่เมืองดานัง ปรเทศเวียดนาม ซึ่งจะเชื่อมต่อผ่านเส้นทางถนนกับเมืองทวาย โดยไทยมีแผนรองรับเขตเศรษฐกิจที่สี่แยกอินโดจีน จ.พิษณุโลก เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการขนส่งและโลจิสติกส์แล้ว

สำหรับนโยบาย One Belt One Road เป็นนโยบายที่ นายสี จิ้นผิง ผู้นำจีนคนปัจจุบัน ที่ได้ให้ความสำคัญและผลักดัน โดยเน้นการสร้างความเชื่อมโยงและความร่วมมือกับนานาประเทศ ทั้งในเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป ซึ่งให้ความสำคัญในด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ครอบคลุมมิติทางวัฒนธรรมด้วย และยังได้มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเอเชีย (AIIB) เพื่อให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในด้านต่าง ๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน คมนาคม และการสื่อสารโทรคมนาคม เป็นต้น

 

e-book