GMS หนุนผลิตอาหารปลอดภัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

10 ก.ย. 2560 | 05:33 น.
GMS หนุนยุทธศาสตร์ 5 ปี แผนปฏิบัติผลิตอาหารปลอดภัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

[caption id="attachment_206287" align="aligncenter" width="400"] พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ[/caption]

พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่  8 กันยายนที่ผ่านมาได้เข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเกษตรประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ร่วมการประชุมรัฐมนตรีเกษตรอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 2 ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งฝ่ายไทยโดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ยืนยันให้การสนับสนุนตามเจตนารมณ์อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในการก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารของโลก  โดยได้เห็นชอบต่อยุทธศาสตร์ส่งเสริมห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงปี 2018-2022 และแผนปฏิบัติการเสียมราฐที่นำเสนอในครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การปฏิรูปภาคเกษตรกรรมของไทย ทั้งในระยะสั้นหรือ 5 ปี และในระยะยาวหรือ 20 ปี ตั้งแต่การจัดสรรที่ดินทำกินและการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงทรัพยากรทางการเกษตรอย่างทั่วถึง การสนับสนุนการทำการเกษตรที่ปลอดภัย ทั้งสินค้าเกษตรแบบ GAP และแบบอินทรีย์ ที่ปลอดภัยกับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาการเกษตรแบบยั่งยืนทั้งในเชิงพาณิชย์ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน เพื่อลดต้นทุน และร่วมกันผลิตและเชื่อมโยงสู่ตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งในเชิงการสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยการสนับสนุนให้เกษตรกรจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่ง ไว้ทำการเกษตรเพื่อยังชีพแบบพอเพียงด้วย

ทั้งนี้ การให้การรับรองยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการส่งเสริมห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเป็นทางการ และสมาชิกแต่ละประเทศได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะดำเนินการให้สำเร็จตามเป้าหมายในครั้งนี้นั้น จะมีการรายงานความคืบหน้านี้ต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำ GMS ครั้งที่ 6 ในเดือนมีนาคม 2561 และนำเสนอโครงการภายใต้ภาคเกษตรโดยรวมเพื่อผนวกไว้ในแผนปฏิบัติการฮานอย (Hanoi Action Plan) ปี 2561 – 2565  เนื่องจากยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยการสนับสนุนและมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน โดยสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมผ่านกลไกประชารัฐ อันประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรม

ขณะเดียวกัน ยังเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทย และประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงจะยกระดับการผลิตสินค้าเกษตรสู่การผลิตยุค 4.0 ซึ่งก็คือการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการเกษตร ทั้งเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีด้านวิศวกรรม  และเครื่องจักรกล และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้เกิดเกษตรกรรมอัจฉริยะ และเกษตรกรรมแม่นยำสูง โดยคงไว้ซึ่งความสมดุลและยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า “เกษตรกรรมสีเขียว" และตอบสนองความต้องการของตลาด ในสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพสูง ที่มีความพิถีพิถันตั้งแต่การผลิตจนกระทั่งถึงปลายทางที่ผู้บริโภค หรือที่เรียกว่า “เกษตรกรรมประณีต" รวมไปถึงการสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้กับเกษตรกรด้วยการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรแบบดั้งเดิม

นอกจากนี้ ไทยยังได้เสนอแนวทางเพื่อร่วมกันผลักดันยุทธศาสตร์ส่งเสริมห่วงโซ่คุณค่าทางการเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอนุภูมิภาค โดยประเทศสมาชิกควรแสวงหาศักยภาพของแต่ละประเทศ เพื่อสร้างห่วงโซ่คุณค่าที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน ขณะเดียวกัน ต้องให้ความสำคัญและส่งเสริมการลงทุนด้านการเกษตร เทคโนโลยีทางการเกษตร โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในภาคการเกษตรของภูมิภาคด้วย