งัดมาตรการภาษีสู้เพื่อนบ้าน ปั้นสตาร์ตอัพ

11 ก.ย. 2560 | 13:18 น.
ด้วยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และองค์ความรู้ใหม่ๆ ก่อให้เกิดธุรกิจที่เรียกว่า สตาร์ตอัพ ผุดขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ทำให้แนวคิดการทำธุรกิจสตาร์ตอัพ ได้รับความนิยมจากผู้ที่มีไอเดีย กล้าคิด กล้าฝัน และต้องการผันตัวไปเป็นผู้ประกอบการมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีในยุคที่รัฐบาลต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ยุคประเทศไทย 4.0

แต่จากรายงานของตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่า มูลค่าความต้องการลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัพของต่างชาติที่ยังรอการเข้ามาลงทุนมีประมาณ 28,000 ล้านบาท ขณะที่ภาพรวมธุรกิจในไทย มีสตาร์ตอัพที่ยังไม่ได้ขอจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลถึง 8,500 ราย ส่วนที่จดทะเบียนแล้ว 1,500 รายนั้น มีนักลงทุนประเภทกองทุนร่วมลงทุนหรือ Venture Capital (VC) เพียง 500 รายเท่านั้น

ส่วนหนึ่งเพราะสตาร์ตอัพในไทย หากมองภาพรวมแล้วนับว่า ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและอยู่ในช่วงพัฒนาความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการจูงใจต่างๆของรัฐบาลอาจยังด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซียหรือสิงคโปร์
รัฐบาลโดยคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee) ที่มีนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน จึงปรับปรุงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับสตาร์ตอัพมากขึ้น ใน 4 ประเด็นคือ เปิดช่องให้สตาร์ตอัพสามารถออกหุ้นกู้แปลงสภาพได้ สามารถทยอยให้หุ้นแก่พนักงานของสตาร์ตอัพได้ ให้พนักงานมีสิทธิซื้อหุ้นในราคาที่กำหนดได้ และสามารถแก้ไขสิทธิในหุ้นบุริมสิทธิโดยใช้มติที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้

โดยกระทรวงพาณิชย์เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ...ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาไปแล้ว หากเห็นชอบโดยเฉพาะการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานในด้านนี้เท่าเทียมกับสิงคโปร์และช่วยให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในสตาร์ตอัพกันมากขึ้น

MP-23-3295-A อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าสิทธิประโยชน์ที่พูดถึงเหล่านี้ ยังไม่เพียงพอที่จะดึงดูดให้นักลงทุนทั้งกลุ่มที่ไม่หวังผลตอบแทน(Angle Investor) และ VC มาลงทุนกับสตาร์ตอัพได้ ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2560 จึงมีมติยกร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ ขึ้นมา เพื่อให้เกิดความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

กฎหมายดังกล่าว จะมีทั้งหมด 4 หมวด ประกอบ หมวดที่ 1 นิยามของสตาร์ตอัพ คือกิจการที่จดทะเบียนไม่เกิน 60 เดือน ต้องทำธุรกิจที่มีนวัตกรรม มีการวิจัยและพัฒนา หมวดที่ 2 จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ส่วนหมวดที่ 3 สิทธิประโยชน์ที่จะให้กับสตาร์ตอัพ โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี ทั้ง 3 กลุ่มหมวด ที่ 4 จัดตั้งศูนย์ทดสอบและนวัตกรรม เพื่อรับรองมาตรฐานให้กับผู้ประกอบการสตาร์ตอัพ

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ในฐานะกรรมการคณะกรรมการ ส่งเสริมรัฐวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ กล่าวว่า สิทธิประโยชน์ที่จะให้ต้องเทียบเท่าระดับสากล และอย่างน้อยต้องไม่ตํ่ากว่าเพื่อนบ้าน เพื่อจูงใจให้นักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาลงทุน และป้องกันไม่ให้ธุรกิจที่เกิดในไทย เติบโตแล้วย้ายไปลงทุนในต่างประเทศ แต่ต้องการพัฒนาให้สตาร์ตอัพไทยมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แต่การจะไปถึงจุดนั้นได้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆต้องพร้อม รวมถึงการออกกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ด้วย

ท้ายที่สุดนายกรัฐมนตรี อาจต้องใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบมั่นคงแห่งชาติ(คสช.) ออกคำสั่งมาตรา 44 เพื่อเร่งรัดดำเนินการให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,295 วันที่ 10 - 13 กันยายน พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว