'บินไทย' ขอเว้นกฎ! ซื้อฝูงบิน

10 ก.ย. 2560 | 12:23 น.
การบินไทยยื่นยกเว้นจัดซื้อฝูงบิน 28 ลำ ตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างใหม่ กรมบัญชีกลางจี้ 31 รัฐวิสาหกิจแจงระเบียบจัดซื้อจัดจ้างตัวเองยันการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ยังเดินหน้าไม่ชะงัก

พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 แม้จะมีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2560 แต่ก็ยังเกิดความสับสนและไม่เข้าใจในวิธีการปฏิบัติ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจเชิงพาณิชย์ ที่เกรงว่า การเปิดเผยแผนการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีในเว็บไซต์ www.gprocurement.go.th ซึ่งเป็นระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอาจจะกระทบต่อแผนการดำเนินการได้ ทำให้มีรัฐวิสาหกิจถึง 31 แห่งขอออกจากการปฏิบัติภายใต้พ.ร.บ.ใหม่นี้

นางสาวชุณหจิต สังข์ใหม่ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ภายใต้พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ มีข้อยกเว้นสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง ตามมาตรา 7(1) ทำให้มีรัฐวิสาหกิจถึง 31 แห่งขอออกจากระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้พ.ร.บ.ใหม่ เช่น การบินไทย ปตท. ทีโอที การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และธนาคารรัฐต่างๆโดยไม่มีระเบียบรองรับว่า จะต้องดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบอะไร

“เราเปิดทางให้กับรัฐ วิสาหกิจเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและแข่งขันในตลาด แต่เมื่อออกไปแล้ว จะต้องมีระเบียบรองรับว่า หากไม่ดำเนินการตามพ.ร.บ.ใหม่ แล้วจะทำตามระเบียบอะไร เพราะบางเรื่องไม่จำเป็นต้องประกาศแผน สามารถไปจัดซื้อจัดจ้างโดยตรงได้ อย่างปตท. ขอออกไปในเรื่องซื้อนํ้ามัน ซึ่งขณะนี้ที่แจ้งกลับมาแล้วว่า จะดำเนินการด้วยระเบียบอะไรมี ปตท. การบิน ไทยและองค์การเภสัชกรรม” นางสาวชุณหจิต กล่าว

อย่างไรก็ตามยืนยันว่าพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่นี้จะไม่ทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐชะงัก เพราะมีบทเฉพาะกาลว่า ภายใน 180 วัน ในระหว่างที่คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุ ยังไม่ได้ออกประกาศตามมาตรา 7(1)

หลักการของพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯใหม่ จะเน้นการเปิดเผยข้อมูล เพิ่มความโปร่งใส ส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรม โดยยึดหลักการ 4 ประการ คือ คุ้มค่า โปร่งใสมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และตรวจสอบได้ ที่สำคัญคือเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและป้องกันการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งจะเป็นการยกระดับความเชื่อมั่นในเวทีโลกได้

พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้างไว้ 3 วิธีคือ วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไป วิธีคัดเลือก และวิธีเฉพาะเจาะจง จากเดิมที่จะมีตั้งแต่การตกลงราคา สอบราคา ประกวดราคา วิธีพิเศษ วิธีกรณีพิเศษ อี-มาร์เก็ต อี-บริดดิ้ง โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาเลือกราคาตํ่าสุดเสมอไป เนื่องจากพ.ร.บ.ฯ ให้ความสำคัญกับความคุ้มค่าด้วย ดังนั้นหน่วยงานของรัฐที่จัดซื้อจัดจ้างสามารถกำหนดเกณฑ์พิจารณาด้านคุณภาพควบคู่ไปกับราคาด้วยได้ เพื่อให้ได้สินค้า บริการ และงานก่อสร้างที่มีคุณภาพที่ดี และตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งาน

[caption id="attachment_193549" align="aligncenter" width="503"] นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว[/caption]

นางอุษณีย์ แสงสิงแก้ว รักษาการกรรมการผู้อำนวยใหญ่ บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน)(THAI) กล่าวว่า บริษัทจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาว่าโครงการจัดซื้อจัดจ้างเรื่องใดบ้างที่ต้องขอยกเว้นขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้พ.ร.บ.ใหม่

“การจัดซื้อเครื่องบินใหม่ 28 ลำ เพื่อทดแทนเครื่องบินเก่า ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องขอยกเว้น ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯปี 2560 ส่วนเรื่อง อื่นๆ จะเสนอภายใน 15 กันยายนนี้”

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) ยืนยันว่า บริษัทพร้อมปฏิบัติตามกฎระเบียบ และกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และได้ยื่นใช้สิทธิตามมาตรา 7(1) แล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,295 วันที่ 10 - 13 กันยายน พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว